เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยถนนสามเสน เขตดุสิต กทม.คณะกรรมการญาติพฤษภา35 และสภาที่ 3 จัดเสวนา “วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดการเสวนาช่วงหนึ่งหากดูจากรัฐธรรมนูญแล้วตนเข้าใจว่าชาวบ้านทั่วไปก็เข้าใจดีว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้สิ้นสุดแล้ว เว้นแต่จะแถไปเป็นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลที่ช่วยกันแถต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า พร้อมเตือน หาก พล.อ.ประยุทธ์รักสถาบันจริง ต้องไม่นำสถาบันมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ตนอยากตั้งคำถามให้ประชาชนช่วยกันคิด คือ 1.การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะวางกรอบบรรทัดฐานทางการเมือง 2.การดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐนานเกินไป 3.เรื่องนี้เป็นประเพณีทางการเมืองไทยหรือไม่ และ 4.การที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่าการนับวาระ 8 ปี จะเริ่มที่ปี 2560 เพื่อหวังจะนั่งในตำแหน่งนายกไปอีก 4 ปี หรือตั้งการตั๋ว 12 ปีตนกังวลว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองขึ้นได้

ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จะนับตั้งแต่เมือไหร่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่กฎหมาย แสดงให้เห็นว่าท่านอยากไปต่อแต่ไม่อยู่ในสถานะที่พูดได้ อยากให้ท่านกลับไปย้อนดูตอน 8 ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เคยสนับสนุนท่านมูฟออนออกไปแล้ว ไม่เหลือพื้นที่ความไว้วางใจ การบริหารประเทศลดทอนประสิทธิภาพความเชื่อมั่นของประชาชนลงไปเรื่อยๆ

“วันนี้คนไทยบางส่วนกำลังถูกสะกดจิตหมู่ ว่าต้องให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ หรือหากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้วใครจะเป็นต่อ แล้วคนที่มาเป็นต่อจะดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าบ้านเมืองอยู่ได้แม้ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นประชาชนจึงควรเรียกร้องไปยังผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรจะสนับสนุนต่อไปหรือไม่”ดร.วันวิชิต กล่าว

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เขียนไว้ชัดเจนมากว่า นายกรัฐมนตรีต้องดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกิน 8 ปี และมาตรา 264 ก็กำหนดชัดว่า ครม.ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ให้ถือเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ทั้งนี้เห็นว่าบ้านเมืองเราจะสียหายมาก หากผู้หมดวาระ ไปดำเนินการเกี่ยวกับการเงินการคลังของแผ่นดิน อาจสร้างความเสียหายเกิดขึ้นได้ และห่วงว่าวันที่ 24 ส.ค.เป็นต้นไป ท่านอาจไม่สามารถเบิกจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นๆในตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเรื่องนี้คนเป็นนายกฯควรคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จะมาตีความเพื่อยืดเวลาในการดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่าเสียสละเข้ามา เหมือนเป็นอัศวินขีม้าขาว แต่หากหลังวันที่ 24 ส.ค.ท่านยังดำรงตำแหน่งนายกฯต่อ อาจจะทำให้คิดได้ว่าหรือท่านติดยึดตำแหน่งหรืออำนาจทั้งปวง ดังนั้นเมื่อครบ 8 ปีแล้ว ท่านไม่อยู่ในสถานะดูแลเงินแผ่นดินและผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ ทั้งนี้ตนเห็นว่านายกฯควรทำหนังสือไปที่ประธานรัฐสภาว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี ขอให้สภาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจากคนคนเดียว

นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) กล่าวว่าเมื่อมีการยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เร็วที่สุด และควรให้ทันก่อนวันที่ 24 ส.ค. หรือหากไม่ทันก็ควรสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะขอพักการปฏิบัติหน้าที่ก่อน หรือจะลาออกแล้วเป็นนายกฯรักษาการแต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถเป็นนายกฯรักษาการได้ ซึ่งต้องใช้กลไกปลัดกระทรวงรักษาการแทน ดังนั้นฝ่ายการเมืองอาจต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ก่อนวันที่ 23 ส.ค.

ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการกฎหมาย

ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า การตีความกฎหมายวันนี้เราต้องตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปีเมื่อไหร่ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่าดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีรวมกัน ซึ่งครม.ที่เป็นก่อนประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560ให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย

ทั้งนี้วิธีคำนวณวาระ 8 ปี หากตีความตรงไปตรงมาคือครบวาระวันที่ 24 ส.ค.2565 หากตีความอีกแบบคือเรื่องมาตรา 158 จะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ หากนับเช่นนี้จะต้องเริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 แต่การคิดแบบนี้จะเป็นเรื่องอันตรายเพราะเท่ากับว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ปี 2557-2560 จะถือเป็นการใช้อำนาจอะไร แม้หลายคนจะใช้เรื่องอำนาจรัฎฐาธิปัตย์มาอธิบาย แต่จริงๆถือว่าความเป็นรัฎฐาธิปัตย์สิ้นสุดหลังมีการโปรดเกล้าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้ว

ดังนั้นหากอ้างความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ช่วงเวลาหลังจากนั้นจะถือว่าเป็นกบฎ และการตีความอีกแบบคือเอาแค่มาตรา 158 แต่ไม่เอามาตรา 264 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยเป็นเพียงความต่อเนื่องในการบริหารซึ่งการใช้กฎหมายแบบนี้ไม่สามารถนำมาซึ่งระบบนิติธรรมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ในทัศนะของตนหากไม่นับวาระตั้งแต่ปี 2557 จะเป็นเรื่องที่แปลก

ดร.เจษฎ์ กล่าวอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. แม้วันที่ 24 ส.ค.จะยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่เพราะในวันที่ 26 ส.ค.ที่จะมีการประชุมกำหนดตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากท่านไปนั่งเป็นประธานการประชุมแล้วแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญจะทำได้หรือไม่ เพราะเปรียบเหมือนการสมรสกัน หากตามกฎหมายให้การสมรสเป็นโมฆะ แม้จะสามารถย้อนไปได้ทางนิตินัยว่าเป็นโมฆะ แต่ทางพฤตินัยสามารถย้อนไปได้หรือไม่ เพราะสมรสกันไปแล้ว อยู่กินกันไปแล้ว หรือมีลูกกันไปแล้ว

ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่และคืนเงินเดือนในช่วงหลังจากวันที่ 24 ส.ค. จะเป็นการลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ จะเป็นการช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการป้องกันปัญหาและช่วยลดแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญและตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่ยื้อเวลาการพิจารณาออกไปนานอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ยุติปฏิบัติหน้าที่ ต้องย้ายออกจากบ้านพักทหารหรือไม่ และสถานะคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างไร ดร.เจษฎ์กล่าวว่า หากยุติปฏิบัติหน้าที่ นายกฯจะไปวิ่งเล่น เที่ยว หรือไลฟ์มาบอกว่าไม่ได้ทำงานแล้วก็ได้ แต่ในแง่ของครม.จะมีปัญหา2ลักษณะ แม้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ แต่เมื่อรัฐมนตรีเชื่อมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกฯพ้นสภาพรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพไปด้วยอาจเกิดปัญหา นำมาซึ่งคำถามรัฐมนตรียังนั่งอยู่ในตำแหน่งได้หรือ

ขณะที่นายกฯมารักษาการ ก็เป็นประเด็นอีกจะเลือกใคร และรักษาการไปถึงเมื่อไหร่ ในเมื่อมีกลไกล การได้มาซึ่งนายกฯ คนมีรายชื่ออยู่ จะยอมรักษาการยาวเลยหรือ โดยเฉพาะนายอนุทิน ถ้ามีการลงมติในสภาฯเป็นนายกฯได้เลย แล้วจะรักษาการไปทำไม เรื่องนี้ สมมุติฝ่ายค้านยื่นประธานชวนในวันที่17ส.ค.ท่านคงไม่รอช้า คงจะส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย เวลานี้ ตำบลกระสุนตกอยู่ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ ครม. และสภาโดยสภาหากไม่ทำอะไรเลย จะมีคนนำไปยื่น ป.ป.ช.ทำให้พ้นตำแหน่งไปได้ เงื่อนงำนี้ ให้จบไปก่อนได้หรือไม่เมื่อฝ่ายค้านยื่น ก็มีเวลาให้วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ถามว่าศาลจะรับเรื่อง เมื่อเกิดเหตุแล้ว เท่านั้นหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า มองได้ 2 รูปแบบ หากพิจารณาโดยรูปธรรมคือ รอเมื่อเกิดเหตุก่อน แล้วไปยื่น แต่มีอีกแบบ พิจารณาเชิงนามธรรม คือมีโอกาสเกิดเหตุเป็นรูปธรรม ที่เมื่อเกิดแล้วจะเกิดความเสียหาย เยียวยาไม่ได้ ก่อนหน้า ศาลเคยรับเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดมาแล้วในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีคนแก้กฎหมายจะเอาสว.สรรหาทั้งหมด ตอนนั้นมีคนไปยื่นและศาล ทำไมรับ และพิจารณา ทั้งที่ปัญหายังไม่เกิด.