เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 15 ส.ค.ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาสภา ล่มในวันเดียวกันนี้ ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้สูตรเลือกตั้งหาร 100 ว่า ขอขอบคุณนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ดำเนินการประชุมจนถึงที่สุด ขอขอบคุณคณะกรรมการธิการฯจากทุกพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สำหรับการประชุมวันนี้เป็นที่ยุติ และจบสิ้นสำหรับกฎหมายฉบับนี้ การจบยุติวันนี้ก็มีผลทำให้ร่างกฎหมายฉบับเดิมของรัฐบาล ยังยืนหลักบัตร 2 ใบหารด้วย 100 โดยหลักการกฎหมายฉบับเดิมเป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ซึ่งถูกต้องตามหลักการ ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไปประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุม จะถูกส่งกลับไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้เวลา 10 วัน หรือหากมีเหตุก็จะใช้เวลาอีก 3 วัน หลังจากนั้นจะส่งไปที่นายกรัฐมนตรีใช้เวลา 5 วัน ซึ่งประธานรัฐสภาแจ้งว่า จะส่งร่างให้ กกต. ในวันที่ 16 ส.ค.ทันที ซึ่งกระบวนการจะเดินหน้าไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

นายสาธิต กล่าวยอมรับว่า เสียดายประเด็นการแก้ไขร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการที่มีความทันสมัยและก้าวหน้า จึงฝาก กกต. ผ่านสื่อมวลชนไปว่า สิ่งไหนที่ควรทำได้ปฏิบัติได้ เช่น เรื่องของการรายงานของข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ และให้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งอำนวยความสะดวกผู้สนับสนุนทุกฝ่ายสามารถถ่ายภาพหรือ วิดีโอ ป้ายคะแนนเรื่องตั้ง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่แก้ในคณะกรรมาธิการ อยากให้ กกต. ได้ดำเนินการเพื่อความโปร่งใสของการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ได้แจ้งว่ามีการพูดคุยกันบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำให้สิ่งที่คณะกรรมาธิการได้ทำถูกนำมาใช้ประโยชน์

นายสาธิต ยังกล่าวยอมรับการพิจารณากฎหมายครั้งนี้ทำให้เสียเวลาและงบประมาณ แต่ต้องเคารพกระบวนการในการพิจารณากฎหมายในรัฐสภา ซึ่งคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งต้นเหตุสำคัญคือมาตรา 23 ปัญหาอยู่ที่ตรงนั้น ตนไม่อยากพูดถึงในอดีต ในอนาคตฝ่ายสภานิติบัญญัติต้องมีเอกภาพในการพิจารณากฎหมายให้ถูกต้อง ไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เป็นบรรทัดฐานต่อไปในการพิจารณากฎหมายข้างหน้า เพื่อเราให้เรามีศักดิ์ศรี

ทางด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กล่าวถึงกรณีที่องค์ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ครบจนทำให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องตกไป ว่าเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ร่างแรกที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

ส่วนประเด็นองค์ประชุมไม่ครบเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยกลไกของรัฐสภา โดยหวังให้กลับไปใช้ใช้ร่างเดิมที่หารด้วย 100 ดังนั้นฝ่ายที่ใช้วิธีการวอล์กเอาต์ ก็เป็นกรณีที่ทำได้ เพราะไม่เห็นชอบด้วย เนื่องจากเห็นว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างมากสนับสนุนหาร 100 ก็ยังแพ้ กมธ.เสียงข้างน้อยที่แก้ไขไปเป็นหาร 500 ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่เคยลงคะแนนเห็นชอบในร่างหาร 500 มาแต่เดิมแล้ว แต่กลับไม่แสดงตัวเพื่อเข้าร่วมประชุมนั้น เพราะคงปัญหาในการคำนวณ หรืออาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากจะตกไปทั้งฉบับแล้วกลับมานับหนึ่งใหม่ ก็กลัวว่าจะไม่ทันกาล จึงเลือกวิธีให้กลับไปใช้ร่างหลักแรกที่รับมา

นายนิกร กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ต้องส่งให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรอิสระให้ความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน เชื่อว่า กกต.จะไม่มีความเห็นแย้ง ก่อนที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน เพื่อดูว่าใครจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ตนขอแนะนำ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ รวบรวบมื่อ 73 รายชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อประชาชนจะได้สิ้นข้อสงสัย เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอเพื่อลงพระปรมาภิไธยต่อไป.