เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข รับยื่นหนังสือจากนายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน และคณะ เรื่องติดตามความก้าวหน้ากรณีการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุข-การบรรจุ และปรับสายงานเจ้าพนักงานเป็นกรณีพิเศษจากสภาการสาธารณสุขชุมชน (สธช.)

นายอเนก กล่าวว่าสืบเนื่องจาก สธช. ได้รับทราบข้อมูลว่าคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข) มีมติเห็นชอบการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุข-การบรรจุ และปรับสายงานเจ้าพนักงานเป็นกรณีพิเศษจาก สธช. แล้ว แต่เรื่องยังค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงขอให้คณะ กมธ.การสาธารณสุขติดตามความคืบหน้า 3 ประเด็น ดังนี้ 1.การขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข สายงานวิชาการ เป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นสายงานเพิ่มใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข สธช.ได้ดำเนินการติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 64 จน อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบในวันที่ 29 เม.ย.65 และเสนอสำนักงาน ก.พ. ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ค.65 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

2.การขอรับจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ กรณีปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากมติ ครม.ปี 63 ที่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 63 ได้รับการบรรจุข้าราชการในสถานการณ์โควิด-19 รวม 4 สายงาน ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข แต่จนถึงปัจจุบันยังมีบุคคลในสายงานวิชาการสาธารณสุข 647 อัตรา ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับการบรรจุข้าราชการแม้แต่รายเดียว ในขณะที่การบรรจุข้าราชการในสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ซึ่ง อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 61 จำนวน 63 สายงาน รวม 37,144 คน ปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. ยังคงไม่มีการดำเนินการพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อบรรจุข้าราชการแต่ประการใด

3.การเปลี่ยนสายงานข้าราชการสายงานทั่วไปที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นสายงานวิชาการ กรณีพิเศษจากมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 เช่นกัน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้สำนักงาน ก.พ. ยังไม่การดำเนินการพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์การปรับเปลี่ยนสายงานออกมาเลย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ยังไม่ได้ดำเนินการพิจารณา ทั้งที่ความก้าวหน้าทั้ง 3 ประเด็น ถือเป็นความมั่นคงบนฐานของวิชาชีพ การดำเนินการที่ล่าช้า อาจเกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ทั้งต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานจากผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนและสหวิชาชีพอื่น ๆ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ ต่อภารกิจของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่า ให้ข้าราชการปฏิบัติราชการอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในการดำเนินการทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของสำนักงาน ก.พ. ที่สามารถเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นต่อไปได้

ทั้งนี้ นพ.บัญญัติ กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของคณะ กมธ.ในวันที่ 18 ส.ค. 65 และจะเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานให้คำตอบต่อเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด หากมีความจำเป็นต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในคราวต่อไป

ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตัวแทนบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 เดินทางร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และร้องต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยติดตามการทำงานของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ว่าก็ดีแล้วที่มีการร้องตรงนั้น เพราะที่นี่ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ปลัด สธ. รองปลัด สธ. ผอ.กองที่เกี่ยวข้อง ทำทุกอย่างแล้ว และส่งเรื่องไปแล้ว การไปร้องตรงนั้นถือว่าดีเหมือนกัน จะได้เห็นถึงความจำเป็น ความสำคัญ

“กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้บรรจุมั่ว เรามีหลักเกณฑ์ทั้งหมดว่าใครจะได้บรรจุ หรือไม่ได้บรรจุ ที่ผ่านมาได้มีการบรรจุพนักงานประจำ ลูกจ้างให้เป็นข้าราชการไปแล้วกว่า 4.5 หมื่นตำแหน่ง จากนี้จะพยายามให้มีการบรรจุเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ยอมรับว่า คราวก่อนเราขอจำนวนมาก ซึ่งมีการพยายามชี้แจงถึงความจำเป็นต้องบรรจุ ในส่วนตกหล่นอยู่ด้วย” 

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีประธานอาสาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แห่งประเทศไทย ขอบคุณท่านอนุทิน สนับสนุนให้มีการเพิ่มป่วยการ 2,000 บาท นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สมควรไม่ใช่หรือ เพราะพวกเขาทุ่มเทขนาดนี้ ไม่ใช่เฉพาะ อสม. เท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่หน้างานต่อสู้โควิด กับโรคระบาดต่างๆ เสี่ยงภัย เสี่ยงติดเชื้อ เสี่ยงไม่สบาย เสี่ยงเสียชีวิต ก็ต้องดูแลเขา เป็นเรื่องปกติ.