ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 ส.ค. หลังจากประชาชนหลายรายยังสับสนว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ ก.ย. – ธ.ค. 65 สรุปแล้วจะขึ้น 68.66 สต.ต่อหน่วยหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. ได้เน้นย้ำชัดเจนว่า ปรับขึ้นแน่นอน แต่ทางรัฐบาล ก็ออกมาระบุว่า ต้องรอมาตรการเยียวยาก่อน ซึ่งยังไม่มีการประกาศออกมาแต่อย่างใด จึงทำให้ประชาชนสับสน แต่ล่าสุดวันที่ 15 ส.ค. เฟสบุ๊กหนักสำนักงานกกพ. ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการขึ้นค่าเอฟที มีจำความสำคัญว่า ค่าเอฟทีรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 65 ปรับเพิ่มค่าเอฟทีอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย รวมทั้งได้ชี้แจงไขข้อข้องใจทำไมค่าเอฟทีงวดใหม่ถึงปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ได้ทำกราฟฟิครีวิวค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเทียบงวดใหม่ ที่คิดค่าเอฟที 93.43 สต. กับงวดปัจจุบัน (พ.ค. – ส.ค.) ที่คิดค่าเอฟที 24.77 สต. (ยังไม่รวมกับมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่กำลังประกาศอกมา) ยกตัวอย่างกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย 22,590 ล้านราย แยกเป็นกลุ่มใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ใช้ไฟเฉลี่ย 72 บาทต่อรายต่อเดือน ค่าเอฟทีต่อหน่วยปัจจุบัน 3.70 บาท ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 264 บาท หากค่าไฟงวดใหม่ คิดค่าเอฟที 4.38 บาท ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเป็น 313 บาท หรือเพิ่มขึ้น 49 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 332 บาทต่อรายต่อเดือน ปัจจุบันค่าเอฟที 4.28 บาทต่อหน่วย เสียค่าไฟเดือนละ 1,418 บาท งวดใหม่จะเสียค่าเอฟที 4.96 บาท จะจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 1,645 บาท หรือเพิ่มขึ้น 227 บาทต่อรายต่อเดือน  

ขณะเดียวกันได้อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องปรับขึ้นราคา ดังนี้

1. การคิดค่าเอฟทีช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ไม่รวมที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้า ประมาณ 83,010 ล้านบาท 

2. การบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กกพ. ปรับเพิ่มค่าเอฟทีเพียง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

การขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG)  ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมา ที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญรวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลกสรุปได้ ดังนี้

(1) ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100-2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด หากแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG ที่มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

(2) การผลิตก๊าซจากเมียนมามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

(3) สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566

(4) สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

“ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในเมียนมา รวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ. ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงตลอดปี 2566 ตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤตที่ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการนำเข้า Spot LNG และเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว”