เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ไม่สามารถลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 24/1 วิธีคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม ต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน แต่ถ้าไม่เสร็จ ต้องใช้ร่างที่ได้รับการเสนอให้เป็นร่างหลัก ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอ แต่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 ระบุว่ากรณีที่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับเดียว ก็ให้ใช้ฉบับนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีการเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับ ให้ใช้ฉบับที่รัฐสภาถือเป็นฉบับหลัก ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้ใช้ร่างที่เสนอโดยรัฐบาลเป็นร่างหลัก ดังนั้น กรณีนี้จะใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐสภาจะต้องดำเนินการนำร่างกฎหมายดังกล่าวส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 15 วัน และกกต.ต้องส่งกลับมาให้สภาภายใน10 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าสภาไม่ต้องส่งไปให้ กกต.พิจารณาได้หรือไม่ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายวิษณุ กล่าวว่าตนสงสัยประเด็นนี้เช่นกัน เพราะข้อกำหนดที่ระบุให้ส่ง กกต. ถูกเขียนไว้สำหรับกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมาย เสร็จสมบูรณ์ตามกรอบเวลา แต่กรณีนี้เมื่อเป็นร่างที่ กกต.จัดทำมาเสนอ ไม่รู้ว่าจะส่งให้ กกต.พิจารณาอีกครั้งทำไม แต่ทางที่ดีที่สุดรัฐสภาควรส่งไปให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง และทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาก็ได้ หากไม่ส่ง กกต.แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เลย รัฐสภามีเวลาของตัวเอง 3 วัน แล้วส่งมาให้รัฐบาล จะมีเวลาพิจารณา 25 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อถามกรณี นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ส.ส.สามารถไปยื่นเรื่องศาล โดยดำเนินการในช่วงเวลาก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งศาลไม่มีเงื่อนเวลาในการพิจารณา แต่หากท้ายสุดแล้วศาลตีตกไป ก็ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ หากวินิจฉัยตีตกบางมาตรา ให้นำบทบัญญัติของมาตรานั้นออกไป แต่ถ้าเป็นมาตราสำคัญ กกต.ต้องไปจัดทำบทบัญญัติมาตรานั้นขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ถ้าต้องจัดทำใหม่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน แต่คิดว่ากรณีแบบนี้แค่ 3 วันก็เสร็จ เพราะเอาฉบับเดิมมาทำใหม่ ไม่ยากอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ จะส่งผลหากมีกรณีที่รัฐบาลต้องรักษาการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คนละเรื่องกัน กรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ที่มาจากการยุบสภา ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วจะต้องรอประกาศผลการเลือกตั้งอีก 2 เดือน ตอนนั้นรัฐบาลต้องรักษาการต่อไป และบวกเวลาอีก 30 วัน ในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ เมื่อหมดกระบวนการนี้แล้วรัฐบาลนี้ควรพ้นไป ถ้ายังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งออกมาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ทั้งนี้กฎหมายเลือกตั้ง มีเพื่อทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่กำหนดเวลาดังกล่าวเดินไปตามขั้นตอน ไม่เกี่ยวกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง

นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้จะครบกำหนด ว่าตนไม่มีความเห็น ให้ผู้รู้ทั้งหลายพูดไป ถ้าตนพูดไปแล้วเกิดถูกขึ้นมา จะกลายเป็นการชี้นำ

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้หลุดพูดออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถอยู่ต่อได้อีก 2 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้หลุดออกมา สามารถพูดกันได้ทุกวัน ถ้าหลุดออกมาอีกวัน ก็คงพูดว่าอยู่ต่อได้ 6 ปี หรือ 4 ปี อย่างไรก็ตาม ที่พูดกันมันมี 3 สูตร ทั้งกรณีถ้าเริ่มนับตั้งแต่ปี 57 ก็จะหมดวาระปีนี้, ถ้าเริ่มนับจากปี 60 ก็จะหมดวาระ ปี 68 และถ้านับปี 62 ก็หมดวาระปี 2570 ก็รู้กันอยู่แค่นี้แหละ แล้วจะตอบอย่างไร ทุกคนก็ไม่รู้

ผู้สื่อข่าวถามว่าบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 60 มีน้ำหนักในการพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากบันทึกของ กรธ.ถือว่าปกติจะเป็นบันทึกขณะกำลังยกร่าง แต่กรณีนี้เราต้องไปดูการประชุมครั้งที่ 500 นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 61 หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ประกาศใช้เรียบร้อยแล้วค่อยมานั่งประชุมกัน เพื่อทำตำราขึ้นมา 1 เล่ม นั่นคือบันทึกการประชุม น้ำหนักจึงมีน้อย เพราะผู้ที่พูดเป็นผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดอ่อนที่คนอื่นๆ 10-20 คน ไม่ได้พูดอะไร และไม่ได้เป็นมติ ต่อมามีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นการทำหลังเหตุการณ์ แต่ถ้าทำระหว่างประชุมมันจะมีน้ำหนัก เพราะนี่คือเจตนารมณ์

“นี่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยมาทำ และไอ้ที่พูดๆ กันในประชุมครั้งที่ 500 เขาทำรูปเล่มออกมา 1 เล่ม เรียงมาตรา และแต่มาตราจะบอกเจตนารมณ์ มันไม่มีข้อความที่พูดอยู่ในมาตรา 158 เลย ก็แปลว่ามีการพูดกัน แต่พอเขียนไม่ได้เขียน ส่วนที่ผู้เอาความเห็นไปอ้างอิง ผมไม่รู้ตอบไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว