เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีซูเปอร์โพล ว่ามีการชี้นำนายอนุทินเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าคนชี้นำให้นำเป็นอะไรคือประชาชน จะชี้นำเร็วที่สุดนับจากนี้ไปคือการเลือกตั้ง วันนี้เรายังต้องทำหน้าที่ในรัฐบาลอย่างดีที่สุด ตราบใดที่รัฐบาลชุดนี้ยังดำรงอยู่ ตนและสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังต้องให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้ต่อไป เลือกตั้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดตัวชี้นำว่าการเมืองประเทศไทยจะเป็นไปอย่างไร ใครจะมาเป็นผู้บริหารประเทศ ใครจะมาเป็นผู้ตรวจสอบ ใครจะอยู่ในบทบาทอะไรก็ให้ผลการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัด
 
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารย์ว่าผลโพลพยายามชี้นำให้นายอนุทินหล่อ เป็นพระเอก จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสำรวจความเห็นแถวกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทินหัวเราะก่อนกล่าวว่า ตนเองก็หล่อ อย่าสนใจเรื่องฝนตกขี้หมูไหล เมื่อถามย้ำกรณีสมาชิก ภท. พื้นที่ภาคใต้ มีการแขวะพรรคประชาธิปัตย์  นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของสมาชิกที่เขาหวงพื้นที่กัน เรื่องธรรมดา อย่าไปคิดมาก เราพูดได้อย่างเดียวว่า ภท. ไม่เคยไปราวีใครก่อน โดนตีหัว โดนก่อนตลอดเวลา แต่เวลาโต้กลับทำไมเป็นเดือดเป็นร้อน แต่ทำไมเวลาทำเราก่อนไม่เคยคิดบ้าง พูดมาแต่ละอย่าง เช่น คำว่า “เป็นราชสีห์ทำไมถึงเห่า” อย่างนี้พูดออกมาได้อย่างไร คนที่เห่าได้ต้องเป็นแบบนั้น ราชสีห์ไม่เห่า ราชสีมีแต่คำราม และอย่างเรื่องการด้อยค่า อสม. บอกว่าตนไป จ.กระบี่ ต้องเกณฑ์ อสม.มา ซึ่งขอยืนยันว่า ตนลงไป หากไม่ใช่ภารกิจของ สธ. ตนไม่เคยทำเรื่องนี้ ส่วนที่มีคนบอกว่า ขอให้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยไปสั่งสอนลูกพรรคให้มีมารยาท ตนขอยอกว่าสั่งสอนทุกวันให้ทำความดีต่อประชาชน รับใช้ประชาชน ทำตนให้เป็นประโยชน์ อย่าเที่ยวระรานใคร
 
“ขอพูดตรงนี้เลย หากไมใช่ภารกิจกระทรวงสาธารณสุข พูดอะไรไปไม่ต้องทำ บอกปลัด สธ.ไว้เลย หากปลัดให้เขาทำ ปลัดต้องรับผิดชอบ เวลาลงไปงานการเมือง ผมมีคนคอยดูแลทางด้านการเมืองอยู่ ส่วนงานของกระทรวงเป็นเรื่องของกระทรวง ดังนั้นต้องคนละบัญชีกัน ต้องคนละเรื่องกัน คนที่มาฟังการปราศรัย ก็ถามว่าใครเป็น อสม.บ้าง ผมยังไม่รู้เลยว่าใครเป็น อสม. พอเขายกมือขึ้นพรึบ ก็ถามว่ามีใครเกณฑ์มาไหม เขาก็บอกไม่มี มันก็ชัดเจน แต่เรื่องที่เอามาหาเรื่องหาราวนั้นไม่มี”  

นายอนุทิน ยังกล่าว ภายหลังพบปะหารือกับ H.E.Dato jojie Samuel เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ด้วยว่าสืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือน พ.ค.65 ทางประเทศมาเลเซียมีความสนใจเรื่องการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ จึงแจ้งว่าต้องการมาศึกษาแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทย ดังนั้นเดือนนี้ซึ่งจะมีการประชุมเอเปคที่ไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซีย จึงเข้ามาหารือเพื่อเตรียมการก่อนที่รมส.สาธารณสุขมาเลเซียจะเดินทางมาไทย โดยทางเราจะมีการพาคณะฯ ไปศึกษาดูงานอุตสาหกรรมกัญชาในไทยว่ามีการปลูก การดูแลอย่างไรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน รวมถึงศึกษาปัญหาอุปสรรคที่ประเทศไทยเจอ เพราะมาเลเซียกำลังอยู่ในขั้นตอนร่างกฎหมายกัญชาเหมือนกัน แต่ของไทยอยู่ในชั้นกรรมาธิการแล้ว คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายในการหารือ ก่อนเสนอเข้าสภา ถ้าผ่านก็เข้าวุฒิสภา ทั้งนี้พยายามตั้งเป้าให้ทุกอย่างจบเร็วที่สุด  
 
“หากไทย มาเลย์ สามารถสนับสนุนกันเพื่อนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากที่สุด เท่ากับว่าเรามีประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎหมายยาเสพติดแรงกว่าไทยมาก แล้วนำไปใช้ประโยชร์ทางการแพทย์ ก็น่าจะเกิด ประโยชน์กับประเทศของเขา ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของเรา เท่ากับมี 2 หัวแล้ว” นายอนุทิน กล่าวและว่ากฎหมายเขาแรงมาก เรื่องการสูบ เสพ ไม่ได้เลย จะได้แลกเปลี่ยนกัน
 

ที่ผ่านมาปัญหาอุปสสรคอย่างเดียวของไทยคือการเอาไปใช้ไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ เอาไปสูบ เสพ ต้องสูบ เสพ ในที่ที่มิดชิด ที่ที่จัดให้ ไม่ได้ห้าม เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เราต้องเปลี่ยนมุมมอง เราปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว จะมองเป็นยาเสพติดไม่ได้ การใช้ก็ต้องใช้ในจุดที่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่านั้น ทั้งนี้ตั้งแต่ที่มีการปลดล็อกการใช้กัญชาทางการแพทย์ ตามการพิจารณาของแพทย์มีผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานเข้า รพ. แต่การเสพ คนที่เกิดผลข้างเคียง ต้องเข้า รพ.ลดลงมาก อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือบทสรุปที่ สธ.ได้รับทราบมา แสดงว่าคนเข้าใจ หนไปใช้ในทางที่ถูกมากขึ้น จากนี้ไปแพทย์ก็กล้าสั่งจ่ายมากขึ้น ส่วนผู้ใช้กัญชา ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกตรวจค้น ดำเนินคดี แต่หากมีการสูบ เสพ กัญชาไม่ถูกต้อง ในที่สาธารณะ เย้ยกฎหมาย ไม่สนกฎหมายแบบนี้มีสิทธิถูกดำเนินคดี ถ้าทำให้เกิดความรำคาญ   
 
ทางด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การร่างประกาศคุมช่อดอกกัญชานั้นยังเป็นไปตามรูปแบบข้อกำหนดว่าเป็นสมุนไพรควบคุม กำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ได้นำกลับเข้าเป็นยาเสพติดอีกเพราะปลดล็อกแล้ว การควบคุมน่าจะได้ประมาณ 70-80% เพื่อรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงมีผล ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ส.ค.65 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะเสนอให้ รมส.ลงนามต่อไป ส่วนเรื่องของอำนาจในการจับกุมต่างๆ ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งในต่างจังหวัดคือ สสจ. คือผู้ได้รับมอบ ใน กทม.ก็เป็นอธิบดี เป็นผู้ชี้เป้าหมายว่าแบบใดคือการกระทำผิด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการต่อ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ