นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.2% ปรับขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 3% และในปี 66 จะขยายตัว 4.2% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่เงินเฟ้อจะเร่งตัวในครึ่งปีหลังมาอยู่ที่ 6.6% ส่วนครึ่งปีแรกเงินเฟ้อ 5.6% ทำให้ทั้งปีจะอยู่ที่ 6.1% ก่อนจะชอลอกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ 2% ในปี 66 จากการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1.25% สิ้นปี 65 และ 2% ในสิ้นปี 66

ทั้งนี้จากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่ภาครัฐได้เข้าช่วยค่าใช้จ่ายของประชาชนนั้น จากที่ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีการใช้จ่ายทั้งจากเงินภาครัฐและเงินประชาชนรวม 38,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่ม 0.2% เป็นส่วนหนึ่งทำให้การบริโภคครัวเรือนในปีนี้ขยายตัว 4.6% เท่ากับว่าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย โดยหลังจากนี้ยังต้องติดตามการระบาดของโควิดและฝีดาษลิงที่หากมีความรุนแรงอาจกระทบอีกได้ซึ่งต้องเตรียมรับมมือ

นายพชรพจน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเป็น “The New K-shaped Economy” โดยปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมาอย่างธุรกิจส่งออกเจอความท้าทายมากขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ทยอยหมดไปเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ 8.1 ล้านคน สูงกว่าคาดเดิมที่ 6.4 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 21.3 ล้านคนในปี 66 หรือครึ่งทางของภาวะปกติ แต่หลายภาคส่วนได้รับอานิสงส์ของภาพรวมที่ดีขึ้นไม่มากนัก ทำให้ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจช่วยประคับประคองต่อไป

นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นำโดยภาคการท่องเที่ยว คาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 65 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน จากเดิม 7.4 ล้านคน จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น การทยอยลดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ รวมถึงไทย ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จนถึงปี 66 ต้องติดตามทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก, ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง, ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้างโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และเรื่องเสถียรภาพการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในต้นปี 66 รวมไปถึงเสถียรภาพและภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาใช้ภายหลังการเลือกตั้ง