เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงวาระดำรงการตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า เรื่อง 8 ปี นายกฯ อ่านภาษาไทยไม่ออกหรืออย่างไร เพราะเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว และกฎหมายบอกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย แต่มีพวกชอบตะแบงหวังได้ประโยชน์ ถ้าตนเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศลาออกในวันที่ครบ 8 ปี เพื่อให้สรรหานายกฯ คนใหม่ รวมทั้งไม่สร้างปัญหาและความสับสนให้ประชาชนและรัฐสภา

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ออกจากตำแหน่งก่อนเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค. และวันที่ 24 ส.ค. ยังทำงานต่อไปถือว่าผิดกฎหมาย ไม่เช่นนั้นข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวง อธิบดี แต่ไม่ยอมเกษียณฯ จะทำอย่างไรต่อไป อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวอย่าง ที่ผ่านมาพูดให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย ลืมตัวไปแล้ว ขอให้ฟังเสียงของประชาชน” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในมุมข้อกฎหมายระบุชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ขณะเดียวกันในมุมของประชาชนก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.2565 นับย้อนไปตั้งแต่ปี 2557 ยุค คสช. ส่วนเจตนารมณ์และความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนว่า ผู้ร่างกฎหมายร่างไว้ป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และเมื่อดูจากบริบททั้งหมดของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในบทสนทนามีการตีความว่าการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และเชื่อว่าวันที่ 23 ส.ค. จะเป็นวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง พร้อมประเมินมีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจยุบสภาแล้วนำไปสู่การรักษาการระยะยาว แต่การรักษาการระยะยาวแบบไม่มีกำหนดนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินอย่างไร โอกาสที่จะกลับมาสืบทอดอำนาจต่อนั้นไม่ง่าย.