เมื่อเวลา 10.02 น. วันที่ 17 ส.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่สอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวรายงานผลการพิจารณา ว่า กมธ.ฯ พิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวม 734 หน่วย และให้ความสำคัญผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายแห่งชาติของรัฐบาล ตลอดจนการจัดงบประมาณแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สอดคล้องกับสภาพการเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19

โดยมีข้อสังเกตสำคัญให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มรายได้และลดการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ปรับปรุงกระบวนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ควบรวมหน่วยงานที่มีพันธกิจซ้ำซ้อนกัน หรือบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ รวมถึงกระจายงบประมาณให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานความโปร่งใสและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน

นายอาคม กล่าวต่อไปว่า มีการปรับลดงบ 7,644,243,800 ล้านบาท โดยได้พิจารณาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับเงินนอกประมาณหรือรายได้ที่จัดเก็บเองเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา อาทิ 1.รายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรมสัมมนา การจ้างที่ปรึกษา การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น 2.รายการที่มีผลดำเนินการล่าช้ากว่าปกติและคาดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันหรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงงบประมาณเสนอไว้ 3.รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือที่ดำเนินการไปแล้ว โดยใช้จ่ายจากการโอนเปลี่ยนแปลงหรือการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 65 และ 4.รายการที่ยกเลิกโครงการหรือสามารถจากแหล่งอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณ นอกจากนั้นยังพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็น

“การพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลด การเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว กมธ.ฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อน เป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมภายหลังภาวะวิกฤติโควิดและประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต เข้มแข็ง รองรับการเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบวงเงินประมาณ จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท” นายอาคม กล่าว

จากนั้นเวลา 10.45 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 4 ว่าด้วยยอดรวมวงเงินงบประมาณรายจ่าย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย สัดส่วนพรรคก้าวไกล สงวนความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ปัญหาคือการใช้งบประมาณผิดจุด ไม่ตอบโจทย์ ไม่จำเป็น ไม่เป็นธรรม ได้ข้อสรุปว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการตั้งงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงภาพกว้าง ภาพใหญ่ ภาพไกล และภาพรวม

นายพริษฐ์ กล่าวว่า งบประมาณครั้งนี้จัดสรรงบไม่มองภาพกว้างของคนทั้งประเทศ เพื่อพยายามกระจายงบประมาณและโครงการต่างๆไปสู่ทุกจังหวัดอย่างเป็นธรรม เช่น โครงการซ่อมถนน โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ที่งบรวมกันเกินกว่า 50% ของงบลงทุน จะเห็นว่างบประมาณกระจุกตัวอยู่ที่บางจังหวัดอย่างชัดเจน สำหรับโครงการซ่อมถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณสูงสุด รวมกันแล้วได้งบประมาณสูงถึง 25% ของงบทั้งประเทศ ส่วนงบปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมชลประทาน 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณ สูงถึง 36% ของงบทั้งประเทศ

สิ่งที่น่ากังวล เราไม่แน่ใจว่าจังหวัดที่ได้รับงบสูงสุดสำหรับซ่อมถนนหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องถนนและแหล่งน้ำมากกว่าจังหวัดอื่นจริงหรือไม่ เมื่อไปดูงบซ่อมถนนจะเห็นว่าแม้พรรคต้นสังกัดของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะมี ส.ส.เขต เป็น 34% ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถ้าดูงบ 7 จังหวัดที่ได้รับงบสูงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มี ส.ส.เขตใน 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 100%

ส่วนงบปรับปรุงแหล่งน้ำ แม้พรรคต้นสังกัดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะมี ส.ส.เขต 21% ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ถ้าเราดู 7 จังหวัดที่ได้รับงบสุงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มี ส.ส.เขต 3 จาก 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 43%

“ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร และคิดว่าคำถามที่ประชาชนทั่วประเทศอดสงสัยไม่ได้ คือ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของทุกคนอย่างเป็นธรรม หรือจัดอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของตัวเอง” นายพริษฐ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปราย ว่า การประมาณการรายได้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะลดลงเช่นเดียวกัน ปัจจัยที่เป็นบวกต่อรายได้รัฐเช่นราคาน้ำมันดิบ อาจจะกระทบกับปัญหาค่าครองชีพของประชาชน แต่เป็นบวกสำหรับรายได้ภาครัฐ เพราะรัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมัน จากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมโดยที่รวมกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลง ทำให้ราคาน้ำมันเมื่อคิดเป็นเงินบาทยิ่งแพงขึ้นไปอีก น่าจะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจัยด้านลบก็มีคือจีดีพีที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่วางแผนไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี 65 หรือเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว เมื่อเกิดเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก รวมถึงมาตรการการลดภาษีสรรพสามิต อีก 5 บาทต่อลิตร ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ตรงนี้จะทำให้รายได้รัฐในอนาคตอาจจะลดลง 1.3 แสนล้านบาท

“นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการประมาณการรายได้ ที่ไม่สามารถตอบสนองกับเศรษฐกิจที่ผันผวน ยังมีความท้าทายตรงหน้า คือหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เสมือนกับการให้บัตรเครดิต กับนายกรัฐมนตรีที่จะสามารถรูดได้ ซึ่งตอนนี้นายกฯรูดได้ใกล้เต็มวงเงินแล้ว ซึ่งวงเงินปี 66 อยู่ที่ประมาณ 1.11 ล้านล้านบาท แต่ใช้ไปแล้ว 1.07 ล้านล้านบาท ดังนั้นยังจะสามารถกู้ได้เพิ่มจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เหลืออยู่น้อยเต็มที หากคิดจากการจะใช้หนี้คืนในปีนี้ก็เหลือเงินที่จะกู้ใหม่เพียงแค่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอหรือไม่ กับการที่จะทำโครงการประกันรายได้ และมาตรการคู่ขนานต่อเนื่อง เพราะปีที่แล้วใช้เงินมากขึ้น 1.4 แสนล้านบาท ตรงนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดมติ ครม.ให้กองทุนน้ำมัน ออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ของกองทุนน้ำมันในวงเงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และยังบอกว่าจะอนุมัติงบกลางอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริหารจัดการระหว่างที่รอ พ.ร.ก. ซึ่งงบกลางปี 65 อนุมัติไว้ 8.9 หมื่นล้านบาท มีการอนุมัติให้ใช้จ่ายไปแล้ว 5.9 หมื่นล้านบาท และมีภาระที่ต้องชดเชยงบบุคลากรที่ตั้งไว้ไม่เพียงพออีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท

จึงขอถามว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้นจะหามาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากงบฯ ปี 66 รวมถึงยอดหนี้กองทุนวินาศภัย ตอนนี้พุ่งไปแล้ว 10 เท่าของเงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนมีอยู่เพียงแค่ 5,600 ล้านบาท แต่ยอดหนี้จากเจ้าหนี้ 7 แสนกว่าราย รวมแล้ว 65,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนวินาศภัยไม่สามารถที่จะใช้หนี้ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่ม ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าสุดท้ายใช้ไม้ตายเดียวกับกองทุนน้ำมัน คือให้กระทรวงการคลังเป็นคนค้ำประกันอีก สุดท้ายทั้งหนี้กองทุนน้ำมันและหนี้กองทุนวินาศภัยก็ตกเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณเช่นเดียวกัน ดังนั้น ตนขอปรับลดงบที่มีความซ้ำซ้อน และกระจุกตัวลงอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ให้เอาเข้างบกลาง แต่ให้ออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี เพื่อรอรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต