เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเสียงวิจารณ์การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าตอนนี้แบ่งเป็น 3 แพร่ง คือ ปี 57 ปี 60 และปี 62 แต่ที่ดูกฎหมาย คิดว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากปี 57 มันไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมายย้อนหลังหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บันทึกไว้ในบทเฉพาะการชัดเจน ว่าหากเป็น ครม.ที่มาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ขอให้เป็น ครม.ต่อไปซึ่งใช้คำว่า “เป็น” ไม่ได้ใช้คำว่า “ทำหน้าที่” หรือคิดว่าเป็น แต่ใช้คำว่า “เป็นเลย”

โดยกฎหมายจะย้อนหลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกฎหมายอาญาหรือกฎหมายมหาชน และนี่เรื่องของกฎหมายมหาชน จะต้องตีความว่าการกระทำแบบนี้เป็นการคุ้มครองหรือการควบคู่ หากเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากเป็นการควบคุมจำกัดจากการใช้อำนาจของรัฐก็เป็นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ประชาชนจับตาดูศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญปี 60 ว่าจะทำหน้าที่หรือไม่ ขณะเดียวกันในแง่ของการเมืองถ้าถามถึงความชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ 8 ปีมันยาวเกิน และเป็น 8 ปีที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณาตนเองแล้วลาออกหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ถ้าเป็นตนจะถามตัวเองว่าคนที่มีสิทธิวินิจฉัยตนเองมากที่สุดคือประชาชน ประชาชนเรียกเขาว่าเป็นนายกฯ แม้จะชอบหรือไม่ก็ถูกปกครองโดย พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด 8 ปี หากนับเลขถูกและเรียกตัวเองว่าเป็นนายกฯ มาตลอด 8 ปีก็จบที่จิตสำนึก อยู่ที่สามัญสำนึกของเขา ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญตีความใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ต่อกระแสของประชาชนจะเป็นอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนยอมรับไม่ได้ อย่างที่บอกความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์หมดไปเยอะ ประชาชนคงอดทนรออีกไม่ไหว ถ้าเคารพประชาชนก็ควรจะลาออก แต่ถ้าไม่ได้ตนก็จะสะท้อนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งค่อนข้างแน่นอน

นอกจากนี้ นายพิธายังกล่าวถึงกรณีจะมีการยุบสภาหรือไม่ว่า กระแสยุบสภามาจากประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ว่าหากเกิดการยุบสภาและไม่สามารถใช้สื่อของรัฐในการประชาสัมพันธ์ในช่วงเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กกต.พิจารณาเสร็จตั้งแต่ปี 63 แต่เพิ่งมาประกาศในช่วงนี้จึงทำให้เกิดกระแสข่าวขึ้นมา แต่ตนคิดว่า กกต.มีหน้าที่เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยยุบสภาหรือไม่ แต่ต้องดู พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อมที่จะลงเลือกตั้งหรือไม่ แต่ตอนนี้ตนคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้ายุบสภาในช่วงนี้ แต่คิดว่าเป็นเพียงสัญญาณที่ส่งมาด้วยความบังเอิญ 

เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากยุบสภาใช่หรือไม่ นายพิธาส่ายหน้า พร้อมกล่าวว่า เรื่องงบประมาณ เรื่องกติกา เรื่องการแบ่งเขต ไม่ได้เข้าทาง พล.อ.ประยุทธ์ เขาคงไม่อยากจะยุบ แต่วิถีทางที่ดีที่สุดก็เห็นด้วยคือการยุบสภาและคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเลือกผู้นำใหม่ในวิกฤติแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าหน้าสนใจ และถูกต้อง ซึ่งพรรคก้าวไกลพร้อมจะลงเลือกตั้งหากเกิดการยุบสภา แต่มีเรื่องน่าเสียดายเรื่องวิธีการคำนวณ หากมีกฎที่ยุติธรรมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด