เมื่อเวลา 09.56 น. วันที่ 18 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ซึ่งจะมีการพิจารณาลงมติมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่สมาชิกสภาฯ ได้อภิปรายครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นหารือว่า ก่อนปิดการประชุมเมื่อคืน ทางฝ่ายค้านไม่ได้ติดใจ แต่วันนี้ทำให้เราเสียเวลารอองค์ประชุมไป 30 นาที ซึ่งกระบวนการในการพิจารณางบประมาณใช้เวลามาก มีผู้แปรญัตติจำนวนมาก เราไม่สามารถไปปิดกั้นเอกสิทธิ์ของสมาชิกในการสงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติได้ คงต้องร่วมมือกันพิจารณาให้จบสิ้น แต่ถ้าเป็นลักษณะนี้ตนเกรงว่าวันที่ 19 ส.ค. อาจจะพิจารณาไม่จบได้ เพราะเมื่อวานการพิจารณาเดินหน้าช้ามาก หากมีความจำเป็นต้องประชุมเลยช่วงวันที่ 19 ส.ค. อาจต้องร่วมมือกันทำงานในวันหยุด หรือจะเป็นวันที่ 22 ส.ค.ก็ได้ ทั้งนี้ขอให้ประธานเปิดโอกาสให้มีการซักถามเพิ่มเติมในส่วนของ มาตรา 8 ที่เป็นงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ใช่การอภิปรายเพิ่มเติม แต่เป็นคำถามเชิงกฎหมาย เรื่องกระบวนการแปรญัตติ การคืนงบประมาณให้กองทัพอากาศ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นห่วงว่ากระบวนการตรากฎหมายที่ผ่านชั้นกรรมาธิการถูกต้องตามขั้นตอนและกฎหมายหรือไม่ เพราะกองทัพอากาศของบคืน 5% ต่ำกว่าที่มติ ครม.กำหนดไว้ว่าต้อง 10% เป็นอย่างต่ำ ถือเป็นการผลักภาระให้รัฐบาลถัดไปตั้งงบประมาณมาซื้อเครื่องบินรบของท่านหรือไม่ เอาอำนาจอะไรในการอนุมัติเงินงบ 5% และไปหวังว่ามติ ครม.ให้ 5% ตามที่ท่านขอ เพราะขั้นตอนผิดฝาผิดตัว หากสภาฯ ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปรับลด 5% แล้วหวัง ครม.ออกมติ ครม.ย้อนหลัง หากผิดพลาดขึ้นมามีคนไปยื่นรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ร่างกฎหมายจะตกทั้งฉบับ

ขณะที่นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการที่เราอนุมัติงบประมาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 หากผู้อนุมัติมีส่วนได้ส่วนเสียจะมีความผิด การที่แปรญัตติให้กองทัพอากาศนั้น ถามว่า ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งเป็นนักการเมืองด้วย และต้องพิจารณาในขั้นตอนวุฒิสภา ประเด็นข้อกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร เพราะตนกลัวว่ากรรมาธิการชุดนี้จะฟ้องกันเอง เพราะท่านเป็นนักร้องอยู่แล้ว ท่านก็บอกว่าอันนี้ไม่มันชอบในขั้นกรรมาธิการ ขอให้ผู้มีความรู้เป็นนักกฎหมายแม่นๆ ตอบว่า แบบนี้กฎหมายจะสามารถใช้ได้หรือไม่ได้

ส่วนนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนมีความเป็นห่วงว่างบประมาณผ่านสภาฯ แห่งนี้แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องอำนาจ หน้าที่ สิทธิ ที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อสอบถามวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ ตนเกรงว่าหลังวันที่ 24 ส.ค.ไปแล้ว มีปัญหาว่านายกฯไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจ แล้วงบประมาณนี้จะใช้กันอย่างไร ตนเป็นห่วงเรื่องผู้ที่โหวตผ่านจะมีความผิดด้วยหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่ว่านายกฯ มีปัญหาเรื่องอายุ อำนาจ และการอนุมัติงบประมาณที่จะใช้ต่อไป เพราะ 8 ปีของนายกฯ จะครบวันที่ 24 ส.ค.นี้

ทางด้านนายศุภชัย กล่าวว่าเมื่อคืนนี้มีการปิดอภิปรายมาตรานี้ไปแล้ว และกรรมาธิการได้ชี้แจงไป แต่เมื่อมีประเด็นซักถามเพิ่มเติมก็สามารถใช้สิทธิซักถามได้ เพียงแต่เอาประเด็นที่ข้องใจจริงๆ ถ้าถามประเด็นไปตั้งแต่การอภิปรายแล้วไม่ต้องถามอีกก็ได้ อีกทั้งเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เราไม่ใช่ศาลตัดสิน

ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่า การปรับลดงบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เอ ว่าการปรับลดงบประมาณต่ำกว่ามติ ครม.ที่กำหนดไว้ในการก่อหนี้ผูกพันนั้น ข้อเท็จจริงในชั้นอนุกรรมาธิการได้รายงานว่าปรับลดลงทั้งก้อน แต่ในส่วนของกรรมาธิการชุดใหญ่มีมติเห็นว่าการปรับลดนั้นทำให้ไม่สามารถสนับสนุนกองทัพที่จะได้ยุทโธปกรณ์ไปดำเนินการในการใช้และวางแผนตามความเหมาะสม กรรมาธิการเสียงข้างมากจึงพิจารณาว่ามติ ครม.เขียนลักษณะนั้นเพื่อบังคับทุกหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้หมายความว่าการบังคับนั้นจะมาผูกพันกับการพิจารณางบประมาณของกรรมาธิการแต่อย่างใด เพราะเราแยกอำนาจในการตั้งงบประมาณที่เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วนอำนาจการอนุมัติเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องนี้ที่ประชุมกรรมาธิการชุดใหญ่ไม่ได้มีการสอบถามที่ประชุมว่าการพิจารณาไปขัดหรือแย้งมติ ครม.หรือไม่ เพราะทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจการปรับลดตัดทอนที่ไม่ขัดมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ

“ดังนั้นที่ห่วงว่ากรรมาธิการตัดงบจะไปขัดมติ ครม.หรือไม่ เข้าใจว่ามีกรรมาธิการบางท่านไปสอบถามสำนักงบประมาณแล้วทราบว่าเคยมีเรื่องการตั้งงบประมาณมาแล้วมีการปรับลดเหลือน้อยกว่าตามที่มติ ครม.กำหนด ซึ่งสามารถทำได้” นายวราเทพ กล่าว

ภายหลังจากสมาชิกสภาฯ อภิปรายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 8 ปรากฏว่า มีผู้ลงมติเห็นด้วย 216 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

จากนั้นเวลา 10.17 น. เริ่มเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 9 กระทรวงการคลัง