เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 วงเงิน 3.185ล้านล้านบาท วาระที่2-3 ต่อเนื่องเป็นที่2 ซึ่งเริ่มพิจารณาผ่านมาตรา มาตรา 8 กระทวงกลาโหม มาตรา9 กระทรวงการคลัง มาตรา 10 กระทรวงการต่างประเทศ มาตรา11 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรา12กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทั่งเวลา 18.30น. เริ่มเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 14 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงผู้สงวนคำแปรญัตติ ได้อภิปรายกันอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกี่ยวกับงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงในพื้นที่เป็นหลัก จึงทำให้มีผู้อภิปรายเป็นจำนวนมาก สำหรับกระทรวงเกษตรฯ

ต่อมาเวลา 22.30 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้ขอหารือว่า เมื่อลงมติกระทรวงเกษตรฯเสร็จแล้วจะเข้า กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะขอประชุมถึงเวลา 24.00 น. และยกไปอภิปรายต่อในวันที่ 19 ส.ค. โดยขอให้เป็นการพักการประชุม ซึ่งเหลือเวลาเพียง 1 วัน จะมีเวลา 09.30- 24.00 น. ก็ไม่สามารถพิจารณาจบได้ 42 มาตรา จึงมีการหารือเบื้องต้นจากส.ส.ฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล ว่า จะขอไปพิจารณาต่อในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เนื่องจากวันเสาร์ที่ 20 ส.ค. สมาชิกต้องลงพื้นที่และมีการนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะวิปรัฐบาล ได้หารือว่า ตนเห็นว่าควรยืนหลักตามที่ตกลงกันคือ 3 วันไว้ก่อน ซึ่งในวาระ 2 สามารถกำหนดเวลาให้กระชับ จากอภิปราย 7 นาที ก็ควรลดเหลือ 5 นาที และยังสามารถอภิปรายได้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่าจะอยู่ในกรอบเวลาได้ แต่ถ้าไม่ทันก็สามารถต่อวันเสาร์ที่ 20 ส.ค.ได้

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวว่า ตอนนี้ยัง 3 วัน และยินดีรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย ซึ่งยังสามารถเดินตามกรอบเวลาที่ตกลงไว้ คือ 3 วัน หากทุกฝ่ายประหยัดเวลาร่วมกัน

หลังการอภิปรายกระทรวงเกษตรฯ นานกว่า 5ชั่วโมง ที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยมติ 205 ต่อ 45 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1

อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ ยืนยันว่าฝ่ายค้านหารือร่วมกับวิปรัฐบาลเห็นว่าขอพักการประชุมในเวลา 24.00น. แต่ถ้ายังเดินหน้าประชุมต่อ ฝ่ายค้านก็จะไม่ขอร่วมอภิปรายแล้วจะให้ลงมติแบบลักหลับก็ตามใจ ทำให้นายภราดร ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นท้วงว่า ตนในฐานะวิปของพรรคภูมิใจไทย ยังไมได้รับการประสานว่าให้พักการประชุมในเวลา 24.00น. จึงขอสนับสนุนความเห็นของประธาน ทำให้นายชวน ประธานในที่ประชุมวินิจฉัยด้วยอำนาจของประธาน ให้ดำเนินการประชุมต่อ

จากนั้นเวลา 22.40 น. ได้เริ่มเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 15 กระทรวงคมนาคม