เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดอ่าน คำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.214/2561, อท. 289/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 102/2565 ระหว่าง พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการ สูงสุดโจทก์ ฟ้อง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 83 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 56 ปี บุตรชายของ นายวิชัย อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โบนัส บอร์น จำกัด, นายบัญชา ยินดี อายุ 63 ปี อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด และ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.กฤษดามหานคร, น.ส.เพชรรัตน์ เทพสัมฤทธิ์พร อายุ 51 ปี อดีตเลขานุการของนายรัชฎา, นายปภพ สโรมา อายุ 69 ปี ผู้มีชื่อเป็นกรรมการใน 3 บริษัท

ประกอบด้วย บจก.อาร์เคฯ, บจก.โกลเด้นฯ, บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และนายธีรโชติ พรมคุณ อายุ 58 ปี พนักงานของ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1- 6 กรณีจําเลยทั้งหกโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนขณะหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐานหรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางๆ ลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดดังกล่าว อันเป็นการสมคบกันฟอกเงิน

โจทก์ จําเลยที่ 1, 2, 4, 5 พร้อมทนายมาศาล ส่วนจำเลยที่ 3 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพผ่านสัญญาณโทรคมนาคมระหว่างศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยมีสักขีพยานอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 58 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ว่าจําเลยที่ 1-3 ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 25 จำเลยที่ 26 และจำเลยที่ 24 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.3 /2555 ได้กระทำความผิด และร่วมกันกระทำความผิดกับพวกรวม 27 คน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 จำเลยที่ 12 มีความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด

สำหรับจำเลยที่ 1-3 และผู้มีชื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 พ.ร.บ.พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 และมาตรา 308 ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 353 และมาตรา 354 ประกอบมาตรา 86 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษ หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 23-26 ให้จำคุกคนละ 12 ปี โดยจำเลยที่ 1-3 ได้รับเงินจากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 10,400,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาทถ้วน)

ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกในวันที่ 4 ก.ย.61 ว่าในช่วงวันที่ 11 ก.ย. 2546 ถึงเดือน ธ.ค.2547 จำเลยทั้งหกกับพวกอีกหลายคนได้บังอาจสมคบกันฟอกเงินโดยนำเงิน ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1-3 กับผู้มีชื่อกับพวก ได้นำบริษัทนิติบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1-3 กับผู้มีชื่อมีอำนาจกระทำ การแทนมาใช้ในการโอน รับโอนเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จํากัด โดยมีจําเลยที่ 3 และผู้มีชื่อซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการในบริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด โดยมีจำเลยที่ 3 และผู้มีชื่อซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการใน บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการส่วนจำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นเลขานุการของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคารพาณิชย์และบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ของบุคคลอื่นเพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวก นำไปใช้ในการทำการซื้อขายหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยโดยนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดตามฟ้องข้อหนึ่งมาชำระค่าหุ้น

ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างทำงานบ้านของผู้ที่มีชื่อซึ่งเป็นพวกพ้องของจำเลยที่ 1-3 โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คออกจากบัญชีกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพสาขาศรีย่าน ชื่อบัญชีบริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด โดยบริษัทดังกล่าว รับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จากนั้นจำเลยที่ 5 ได้สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวออกจากบัญชีบริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด แล้วนำฝากเข้า บัญชีของบริษัทแกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และนำฝากเพื่อชำระหนี้ ค่าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ แปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ส่วนจำเลยที่ 6 มีฐานะ เป็นพนักงานขับรถประจำตัวของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์เพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 6 และทำหน้าที่ นําเช็คธนาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไปทําการเบิกถอนเป็นเงินสดตามคำสั่งของจำเลยที่ 1

นอกจากนี้จำเลยทั้งหกกับพวกได้ใช้บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัทแกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาทำการโอน รับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปยังพวกของจำเลย และบุคคลผู้มีชื่อทั้งนี้การกระทำของจำเลยทั้งหก กับพวกดังกล่าวเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนขณะ หรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐานหรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพราง ลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้งการจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการสมคบกันฟอกเงิน

ศาลมีคําพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9 มาตรา 50 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 133 กรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 860 ปี จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 28 กรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 118 ปี จำเลยที่ 3 กระทำความผิด 52 กรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 416 ปี จำเลยที่ 4 กระทำความผิด 5 กรรม รวมจำคุก 38 ปี จำเลยที่ 5 กระทำความผิด 25 กรรม รวมจำคุก 235 ปี จำเลยที่ 6 กระทำความผิด 39 กรรม รวมจำคุก 262 ปี

ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-6 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) และนับโทษจำเลยที่ 1-3 ในคดีนี้ต่อกับโทษคดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จําเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดชอบชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินเป็นเงิน 8,868,732,100บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงินดังกล่าวเป็นเงิน 372,915,500 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในวงเงิน 5,805,488.25 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 2,713,195,805 บาท

และจำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในวงเงิน 548,987,410 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดในวงเงินดังกล่าวอีกเป็นเงิน 369,185,200 บาท จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ร่วมกันรับผิดในวงเงินดังกล่าวอีกเป็นเงิน 973,528,030.27 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดในวงเงินดังกล่าวอีกเป็นเงิน 97,509,670.16 บาท โดยให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระภายใน 30 วัน นับจากวันที่พิพากษา หากผิดนัดชำระให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยทั้ง 6 ได้ไม่เกินจำนวนที่แต่ละคนค้างชำระ