ยังคงเป็นกระแสในโลกโซเชียล ที่ดูเหมือนว่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับแฮชแท็ก #นายกเถื่อน หลังเกิดม็อบจากหลายฝ่าย ออกมาเคลื่อนไหว บริเวณหน้าทำเนียบฯ กดดันให้ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ออกจากการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2557 ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย 

ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวก ได้เขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุชัดเจนว่า ‘ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่’

ประชาชนจับตามอง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ลาออก หลายคนมองว่า หากนายกฯ ยังดำรงตำแหน่งอยู่ จะกลายเป็น ‘นายกฯ เถื่อน’ ด้านพรรคฝ่ายค้านได้มีการยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2 สื่อได้พยายามเข้าไปถามในกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ให้คำตอบใด ๆ กับสื่อ ในส่วนของประชาชน ได้มีการรวมตัวออกมาเรียกร้อง จัดม็อบเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ในวาระครบ 8 ปี และเฝ้าดูสถานการณ์ในคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เวลา 23.59 น. ถือเป็นที่สิ้นสุดการเป็นนายกฯ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายในกรณีดังกล่าว บนโลกออนไลน์หลากหลายมุมมอง พร้อมตั้งความหวังไว้กับศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการตัดสิน เลยเกิดเป็นแฮชแท็ก #นายกเถื่อน ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งในขณะนี้..