นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงฯ ประกอบด้วย มิติด้านการพัฒนาทางถนน โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมระหว่าง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา กับ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ความยาว 7,000 เมตร เชื่อมต่อถนนสายหลักระหว่างถนนเพชรเกษม (ทล.4) กับถนนทางหลวงหมายเลข 408 ช่วยลดระยะทางการเดินทางระหว่างจังหวัด จาก 80 กิโลเมตร (กม.) เหลือประมาณ 7 กม. และใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนหากเกิดภัยพิบัติได้ รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบแล้ว มีกำหนดเริ่มก่อสร้างปี 66 และเปิดบริการปี 69

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาทางถนนสำคัญในพื้นที่ จ.สงขลา อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทล. 42 บ้านคลองแงะ-จุดผ่านแดนสุไหงโก-ลก ตอนบ้านโตนนท์-บ้านลำชิง ขยายจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ระยะทาง 10.72 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ จ.สงขลา และปัตตานี เชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนอำเภอสุโหงโก-ลก ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้า 8.87% คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการภายในปี 67 รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคตกว่า 113 กม., โครงข่ายทางหลวงชนบท เช่น ถนนสาย สข.4009 แยก ทล.4083-บ้านกระแสสินธุ์ จ.สงขลา สนับสุนนการท่องเที่ยวชายทะเลชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย (Thailand Rivera) และบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 66, โครงการศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบถนนเลี่ยงเมืองสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งโลจิสติกส์ อำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนการท่องเที่ยว

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมยังได้ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) ที่ประกอบด้วย ถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มีเส้นทางสำคัญผ่านพื้นที่จังหวัดสงขลาคือ MR 1 ช่วงเชียงราย-นราธิวาส พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท เชื่อมโยงสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานหาดใหญ่ พื้นที่ตัวเมือง อำเภอต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียง ให้มีความครอบคลุมเป็นโครงข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะที่มิติการพัฒนาระบบราง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีเส้นทางในแผนระยะเร่งด่วน (ระยะที่ 1) 7 เส้นทาง 993 กม. และในแผนระยะกลาง (ระยะที่ 2) ที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีเส้นทางสำคัญผ่านพื้นที่ จ.สงขลา ได้แก่ 1. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 339 กม. และ 2. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 48 กม. ส่วนมิติการพัฒนาทางน้ำ อาทิ การก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี 64 สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รักษาวิถีชีวิตการประกอบอาชีพประมง และส่งเสริมการท่องเที่ยว

โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล 11 ร่องน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะ ลดปัญหาอุทกภัยระดับรุนแรง โดยมีแผนดำเนินการแล้วเสร็จเดือน ก.ย.65 และโครงการในอนาคต อาทิ โครงการขุดลอกร่องน้ำสงขลา (ร่องนอก) ซึ่งเป็นร่องน้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าเพื่อเข้าเทียบท่าท่าเรือสงขลา อยู่ระหว่างจัดทำแบบ และการก่อสร้างขุดลอกร่องน้ำร่องกลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง และมิติการพัฒนาทางอากาศ ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 2.5 ล้านคนต่อปี มีแผนการพัฒนา เช่น ขยายลานจอดรถ ก่อสร้างอาคารจอดรถ อาคารผู้โดยสาร อาคารคลังสินค้าหลังใหม่ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บท และกำหนดระยะเวลาโครงการ

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินงานก่อสร้างทุกโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก รวมทั้งความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และดำเนินการตามมาตรการ และแนวปฏิบัติระยะยาว สำหรับโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และความคิดเห็นขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำโครงการและงบประมาณลงพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมทั้งเน้นย้ำให้การดำเนินงานในทุกส่วน โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดทำ checklist เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 66 ให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป และให้ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อมูล การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมให้ทันสมัย และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย.