เมื่อวันที่ 9 ส.ค. เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ที่ปรึกษากลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่นหนังสือถึงนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยสร้างเงื่อนไข และการบริหารจัดการเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาโควิดไม่เสร็จสิ้นโดยเร็ว และใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า

โดยขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ดังนี้  1.ฟ้าทะลายโจรสามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในสามสี่วันแรกได้และได้ผลดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ แต่กระทรวงสาธารณสุขที่กำกับดูแลโดยนายอนุทิน และกรมการแพทย์ที่กำกับดูแลโดย นพ.สมศักดิ์ ได้ทำแนวทางให้แพทย์รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการด้วยยาฟาวิพิราเวียร์  แต่ไม่กำหนดให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น รวมถึงกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขไม่กำหนดให้ฟ้าทะลายโจรชนิดผงบด เป็นคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดเบื้องต้น แต่แนะนำเพียงสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่หายากและแพงกว่าชนิดผงบด ทำให้ตัดโอกาสผู้ป่วยที่จะหายและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และเพิ่มภาระของโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณแผ่นดินในการรักษา

2.ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบการจัดซื้อวัคซีนซิโนแคของประเทศไทยที่ซื้อในราคาแพงกว่าราคาที่ประเทศเพื่อนบ้านซื้อ

3.ขอให้ตรวจสอบผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า ทำไมตัดสินใจซื้อซิโนแวคมากกว่าซื้อซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนที่มีคุณภาพมากกว่า ราคาถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกา หรือ mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา

4. ขอให้ตรวจสอบ นพ.เกียรติภูมิ และนพ.วิฑูรย์ ว่าการที่องค์การเภสัชกรรม เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าประกันและค่าอื่นๆ ในวัคซีนโมเดอร์นาที่โรงพยาบาลเอกชน โดย นพ.บุญ วนาสิน นำเข้ามาเพื่อฉีดป้องกันโรคให้ประชาชน  ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  3, 5, 47, 55 หรือไม่

5. ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบการ นายจุรินทร์ ในการกำกับดูแลการจัดซื้อแผ่นตรวจโควิดแอนติเจนเทสต์คิต หรือ ATK ว่า ทำไมประเทศไทยซื้อแพงกว่าอเมริกา ยุโรป เกือบ 10 เท่าตัว ใน ซึ่งเป็นภาระต่อแผ่นดินและภาระต่อประชาชนที่ต้องการซื้อมาตรวจ ทั้งๆ ที่ควรได้รับฟรี ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 47, 55

6.ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบการจัดสรรโควตาวัคซีนเป็นไปตามประกาศหรือไม่ และในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั่วถึงหรือไม่ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่สังกัดโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเอกชนทุกแห่งที่ดูแลคนไข้สีเหลืองสีเขียวด่านหน้า และในการจัดสรรจำนวนวัคซีนโควิดให้พื้นที่สีแดง สีเหลืองเป็นธรรมหรือไม่ ทำไมจังหวัดพื้นสีเหลือง ได้มากกว่าพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่นักการเมืองเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายอนุทิน จึงได้โควตาวัคซีนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ

โดยขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อร้องเรียนทั้ง 6 ข้อ ว่าผู้ถูกร้องเรียนมีการกระทำหน้าที่อาจทุจริตต่อหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือมีความผิดในการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมทางราชการพลเรือนและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และขอให้ผู้ถูกร้องเรียนทั้ง 7 คน ดำเนินการแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ใดที่ขัดต่อกฎหมายต่อไปทันทีและขอทราบผลความคืบหน้าในการตรวจสอบเบื้องต้นใน 30 วัน.