นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย  เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดในปีนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนก.ค.64 บริษัทประกันวินาศภัยได้จ่ายค่าสินไหมโควิดไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท และประเมินว่าหากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นระดับ 1.7-1.8 หมื่นคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตสูงเกิน 100 คนต่อวันไปเรื่อยๆ  การจ่ายเคลมเดือนส.ค.จะเพิ่มถึง 7,500-8,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อนานกว่านั้นค่าเคลมอาจทะลุเกิน 1 หมื่นล้านบาทได้ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมีระยะเวลาคุ้มครองยาว 1 ปี จนถึงปี 65

ทั้งนี้ สถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นทำให้การจำหน่ายประกันภัยโควิดต้องขาดทุนแน่ แม้ปีก่อนจะมีกำไรค่อนข้างดี แต่ปีนี้กลับมียอดเคลมเพิ่มกว่าเดิมมาก เมื่อหักลบรวมกัน 2 ปีแล้วก็น่าจะขาดทุน เพราะสัดส่วนคนไทยที่ทำประกันโควิดเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิดจะอยู่ประมาณ 10% ถ้ามีผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 1.7-1.8 หมื่นต่อวัน จะตกเฉลี่ยต่อเดือนละ 5 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ตามสมมติฐานจะมีคนทำประกันโควิด 50,000 คน เฉลี่ยยอดเคลมตกคนละ 7 หมื่นบาท เท่ากับมียอดเคลมเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 3,500 ล้านบาทได้”

“เมื่อปีก่อน มียอดเคลมประกันโควิดอยู่ที่ร้อยกว่าล้านบาท แต่ในปีนี้ยอดเคลมมีโอกาสสูงขึ้น 50-100 เท่าจากปีก่อน เห็นได้จากช่วงเดือนพ.ค.64 มียอดเคลมประมาณ 1,000 ล้านบาท เดือนมิ.ย. เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และเดือนก.ค.เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งสมาคมประกันฯ หวังว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้คนไทย และทำให้ยอดการจ่ายเคลมโควิดชะลอลง”

นายอานนท์กล่าวว่า แม้ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยอาจต้องเผชิญการขาดทุนจากรับประกันภัยโควิด อย่างไรก็ตาม บริษัทยังพร้อมดูแลผู้เอากรมธรรม์ให้ได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ รวมถึงมีการปรับเงื่อนไขความคุ้มครองผู้ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้ประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ได้ขยายความคุ้มครองในการจ่ายค่ารักษาและชดเชยรายวันให้แก่ผู้ติดเชื้อที่รักษาในโรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทลได้ ซึ่งเพิ่มจากเงื่อนไขปกติที่กำหนดให้คุ้มครองเฉพาะการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาล