เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 แถลงว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มิให้เป็นเกิน 8 ปี พร้อมกับมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ สั่นคลอนลงแล้ว ทั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี ทำประเทศถอยหลังแทบทุกด้านล้มเหลวแทบทุกเรื่อง ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของ พล.อ.ประวิตร ที่จะต้องเร่งโชว์ศักยภาพในการสร้างความยอมรับให้กับประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะพังไปทั้งประยุทธ์และประวิตร
ทั้งนี้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ตนมีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง เรื่องสินค้าราคาแพงซึ่งเรียกได้ว่าแพงทั้งแผ่นดินแล้ว รวมถึงปัญหาราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ที่ล้วนแต่สามารถลดราคาลงได้
“ขออย่าได้รีรอหรือกลัวบารมี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ ให้รีบตัดสินใจหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาแก้วิกฤติเศรษฐกิจโดยด่วน ซึ่งอาจจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาคนดีที่สังคมยอมรับเข้ามาช่วยกันแก้วิกฤติของประเทศ หากรอจนศาลตัดสิน 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเกรงว่าจะไม่ทันการณ์ เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนกันไปทั่ว ผู้คนคาดหวังว่าการเปลี่ยนตัวจาก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น พล.อ.ประวิตร น่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ บ้าง แต่จนถึงวันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังอืดอาด ไม่ได้ส่งสัญญาณในการเร่งแก้ไขปัญหา หากปล่อยไปเป็นสภาพรัฐบาลเป็ดง่อย บริหารประเทศแบบไม่บริหาร ประเทศจะยิ่งย่อยยับ”
ในขณะนี้แรงกดดันทั้งหมดไปอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร หากไม่เร่งโชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำ อาจทำให้มีผู้นำไปเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีก ซึ่งในระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจมีบริวารของ พล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนไหวเอา พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาอีก ซึ่งไม่เป็นผลดี
นอกจากประเด็นปัญหาปากท้องของประชาชนแล้ว พล.อ.ประวิตร ยังต้องเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ ด้วยการนำรายงานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เคยเสนอต่อรัฐบาล มาพิจารณาดำเนินการจะเป็นทางออกคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองลงได้
2.ประชาชนและสื่อมวลชนกำลังจับตาการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หรือจะวินิจฉัยให้เป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีได้ หากเป็นประการหลังจะเกิดคำถามว่า ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.57 ถ้าไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.57 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอะไร เงินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เงินค่าตอบแทนทั้งหลาย หรือรถประจำตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ รับในตำแหน่งอะไร แล้วหากว่าไม่นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ 24 ส.ค.57 ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 แล้วเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเมืองจะมีความหมายอะไร
ดังนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน จึงควรต้องวินิจฉัยโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะประกาศใช้ แล้วท่านได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 70 ปีเป็น 75 ปี ทำให้ท่านดำรงตำแหน่งต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน การที่ท่านเป็นหนึ่งในตุลาการที่ลงมติไม่สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สังคมจึงจับตามองท่านมากกว่าตุลาการท่านอื่น ว่าท่านดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ ท่านก็อยู่ใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้วท่านจะวินิจฉัยเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างไปหรือไม่อย่างไร
3.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าใจสถานะตัวเองว่าดำรงตำแหน่งนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้ว เป็น 8 ปีที่ประชาชนคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำที่เข้ามาปฏิรูปประเทศและสร้างความสามัคคีของคนในชาติตามสัญญาประชาคม แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญา ประเทศชาติจึงเกิดวิกฤติรอบด้าน แล้วทำไมท่านจึงยังอยากจะดำรงตำแหน่งต่อไปจนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากยึดอำนาจของท่านเอง ทำไมท่านจึงไม่ปฏิบัติตาม เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะท่านควรรู้ตัวด้วยตัวท่านเองว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้ว ความชอบธรรมของท่านหมดสิ้นลงแล้ว ถึงเวลาต้องลงจากอำนาจแบบสง่างาม หากยังดันทุรังฝืนเจตจำนงประชาน จะถูกกระแสต่อต้านขยายวงออกไปมากขึ้นจนจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีกครั้งได้
4.ประเทศชาติกำลังถึงจุดเปลี่ยน หลังจากปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศแบบไร้ความสามารถ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาบ้านเมือง ประชาชนเกิดความแตกแยกทุกระดับอย่างร้าวลึกกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกับก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ แล้วช่วยกันกอบกู้วิกฤตของบ้านเมือง หากมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามกติกาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเศรษฐกิจ สร้างความสามัคคีคนในชาติ และป้องปกสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน