เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นรายชื่อพยานเพิ่มเติมกรณีการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบคำวินิจฉัย ว่าการจะรับหรือไม่รับนั้นเป็นสิทธิของศาล และการส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นช่องทางที่มีความชอบด้วยกฎหมาย โดยนายชวนในฐานะที่เป็นผู้ร้องสามารถส่งพยานเพิ่มเติมได้หากเห็นว่ามีความจำเป็น แต่การที่ศาลปฏิเสธไม่รับน่าจะเสียหายกับศาลมากกว่า เรามั่นใจว่าศาลจะรับ ถามว่าหากศาลรับไว้พิจารณาจะส่งผลกับการพิจารณาหรือไม่ ข้อมูลที่เราให้ไปในเหตุผลประกอบคำร้องก็ครบถ้วนหมดแล้ว เพียงแต่เราต้องการเพิ่มน้ำหนักในเชิงสาธารณะ เรามั่นใจว่าศาลจะรับไว้พิจารณาและจะส่งผลดีต่อการพิจารณา

เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับ จะส่งผลอย่างไรและพรรคฝ่ายค้านจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ไม่รับก็ไม่มีผลอะไร ส่วนจะดำเนินการอะไรต่อหรือไม่นั้น คงมาพิจารณาดูว่าจะต้องส่งอะไรเพิ่มเข้าไปหรือไม่ ตามขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยหากศาลมีการไตร่สวนก็อาจจะขอเพิ่มพยานหลักฐานเข้าไป ต้องดูเป็นเรื่องๆ และดูในรายละเอียด หากศาลไม่มีการไตร่สวนพิจารณากฎหมายอย่างเดียวเราก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกระแสข่าวการยุบสภาในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยวิธีหนึ่งคือการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เนื่องจาก พ.ร.ก.ไม่ยุ่งยากและสามารถนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปแล้ว มาจัดทำเป็น พ.ร.ก.ได้ ว่า ถ้ามีการออก พ.ร.ก.ที่มีเนื้อหาคล้ายกับร่าง พ.ร.ป. อาจจะมีการอ้างอย่างอื่น เช่น มาตรา 5 ประเพณีการปกครอง และใช้เงื่อนไขในส่วนนี้ออกมาเพื่อให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากออกมาโดยไม่อ้างมาตรา 5 อาจจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172

การออก พ.ร.ก.มาบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วรรคแรก ระบุไว้ว่าอาจจะมีการเลี่ยงมาตรานี้และไปใช้มาตรา 5 เนื่องจากไม่สามารถออก พ.ร.ก.โดยใช้มาตรา 172 ได้ ก็ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ ต้องหากฎหมายมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง โดยประเพณีในอดีตที่ผ่านมาคือการออก พ.ร.ก. ซึ่งแล้วแต่ข้ออ้างในการเลี่ยงรัฐธรรมนูญ หากเขาอ้างเช่นนั้น คนเถียงก็เถียงลำบากเช่นกัน

“ในมุมฝ่ายค้านอยากให้มีการเลือกตั้ง ถ้ากฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นธรรม เราเห็นด้วย เราไม่คัดค้าน หากเนื้อหาของ พ.ร.ก.เอา พ.ร.ป. ที่เรายกร่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาบังคับใช้ เราเห็นด้วยในเนื้อหา แต่เราทักท้วงอำนาจในการออก พ.ร.ก.ว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น” นพ.ชลน่าน กล่าว.