แต่ก็มีคำถามกลับมาว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะดูจากความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ลงพื้นที่ถี่ๆ ก็ใช้อำนาจ “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ไอเดียบรรเจิดทันทีว่าจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็มีข้อครหาว่า ตรงนี้เข้าข่ายการซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่ และการที่ “บิ๊กป้อม” ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ลงพื้นที่ถี่ๆ ก็ไปสร้างความมั่นใจให้กับลูกพรรค ในทำนองว่างบประมาณไม่มีตกหล่นแน่นอน ส่งผลต่อคนที่กำลังคิดจะย้ายพรรค เกิดอาการลังเล ก็ต้องชั่งใจว่าจะอยู่หรือจะไป ตรงนี้ยังไม่รวมถึงคนที่ย้ายพรรค จะมีผลพวงอะไรตามมาหรือไม่

ซึ่งฝ่ายค้านจับตาพิเศษ ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะ กกต.ออกระเบียบฉบับนี้ ได้ แต่เวลาบังคับใช้ ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่าเอื้อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพิเศษ เพราะถ้าหาก บางพื้นที่ เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม แล้ว ส.ส.ในฐานะผู้แทน ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องลงไปช่วยเหลือ คำถาม??? กรณีนี้ กกต.จะตีความว่าอย่างไร โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมทำหนังสือ ขอความชัดเจนต่อ กกต.ว่าสิ่งใด ทำได้บ้าง หรือทำไม่ได้ ให้ระบุออกมาเลย เพราะถือเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างมาก และไม่ควรเกิดความผิดพลาด
ซึ่ง กกต. จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจด้วยความ “รอบคอบ-รัดกุม” เพราะไม่อย่างนั้น อาจถูกฟ้องกลับจนรัฐต้องควักเงินหลวงมาจ่ายแทนอีก เหมือนกรณี คดีประวัติศาสตร์ในปี 2565 ที่ศาลจังหวัดฮอด พิพากษาให้ กกต. ชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยากว่า 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท แก่ นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัย เป็นค่าเสียหายและเยียวยาฐานทำให้เสียชื่อเสียงจากการถูกแจก “ใบส้ม” ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คดีบูชาเทียน ทำบุญวันเกิด 2,000 บาทว่า ไม่ใช่การซื้อเสียงหรือทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562

ดังนั้นจากกรณีนี้ กกต. ต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน เพราะ 1.จะเซฟตัว กกต. ไม่ให้ถูกครหาและข้อกฎหมายย้อนหลัง หากเกิดการตีความและฟ้องร้องตามมากันในภายหลัง เพราะดูแนวโน้มจะเกิดข้อพิพาทกันเยอะ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 2.เพื่อความสบายใจของทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ในการไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดย กกต. จะต้องสร้างความชัดเจน อาทิ การออกระเบียบตามมา ระบุโฟกัสลงรายละเอียดให้ชัดเจนลงไปเลยว่าเรื่องใด ทำได้หรือไม่ได้ เพื่อไม่ต้องให้เกิดปัญหาการตีความตามมา
เพราะถ้า กกต. ยังคลุมเครือ ไม่ทำให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น สุดท้ายปัญหานี้ก็กลายเป็น “บูมเมอแรง” ซัดเข้าใส่ กกต. เสียเอง.