เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2565 ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ประธานการประชุม ศบค.เป็นครั้งแรก สำหรับวาระการประชุม ศบค.วันนี้ จะมีการเสนอยกเลิกการประกาศใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ต่อมาเวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ต้องยุบ ศบค. ยุบหน่วยงานภายใต้ ศบค. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ส่วนกลไกที่จะเข้ามาแทนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ที่ให้อำนาจ คณะกรรมการ โรคติดต่อแห่งชาติ คล้าย ศบค.
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ว่า กลไล
ภายหลังการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยรมว.สาธารณสุข จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และศบค.จะยุติบทบาทในทันที และหากโควิดกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง สามารถประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณายกเลิกประกาศสาถนการณ์ฉุกเฉิน ในวันอังคาร 27 ก.ย.
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ยืนยัน ไม่กังวลเรื่องโควิดระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆเรียนรู้โควิดมา 3 ปี ระบบทุกอย่างเตรียมไว้หมด ภายหลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินจะเปลี่ยนไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจหน่วยงานต่างๆทำงานได้เหมือน ศบค.และเชื่อมั่นไม่มีปัญหา ในช่วงสุญญากาศเปลี่ยนผ่านโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากคนติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลทำไม เราถึงเปลี่ยนผ่านโควิดจากโรคติดต่อร้าย แรงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะผ่อนคลายเกือบทั้งหมด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หลังจากปรับโรคโควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ส่งผลให้ สถานพยาบาลชั่วคราว ที่อนุญาตให้เปิดก่อนหน้านี้ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากคนไข้น้อยลง โดย สบส.จะไม่ต่ออายุใบอนุญาตสถานพยาบาลชั่วคราวที่หมดอายุลงในเดือน ก.ย. ยกเว้นสถานพยาบาลชั่วคราว ที่ยังมีคนไข้ ให้ดำเนินการรักษาจนหมดคนไข้
นพ.ธเรศ กล่าวว่า การดูแลรักษาโรคโควิดหลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะคล้ายโรคไข้หวัด ให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เข้มมาตรการ DMHT 5 วัน โดยใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และสามารถทำงานได้ ส่วนเมื่อมีอาการมากขึ้นแพทย์จะพิจารณารับเป็นผู้ป่วยในตามปกติ สำหรับการใช้สิทธิยูเซปพลัส (UCEP Plus) มีการปรับเกณฑ์ใหม่ โดยคณะกรรมการสถานพยาบาลเสนอว่า เมื่อปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเกณฑ์ จะใช้เกณฑ์เดียวกับภาวะติดเชื้ออื่นๆ เช่น ความดันตก มีอาการเหมือนคนช็อก แต่เพิ่มหลักเกณฑ์ให้รักษาจนหายจะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ต้องวุ่นวายในการหาเตียง ต่างจากยูเซปปกติที่รักษาครบ 72 ชั่วโมงต้องย้ายกลับ รพ.ตามสิทธิ ซึ่งตอนนี้คนไข้สีเหลืองและสีแดงลดลง.