ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เทศบาลตำบลท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ นายจักรพรรณ สุวรรณภักดี นอภ.ท่าปลา พร้อมด้วย นายสุรินทร์ ปริมาณ นายกเทศมนตรีตำบลท่าปลา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าปลา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่งในพื้นที่ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของดีอำเภอท่าปลา ประจำปี 2565 (ออกพรรษาแห่ผีตลก หนึ่งเดียวในโลกที่อําเภอท่าปลา) ระหว่างวันที่ 5-11 ต.ค. 65 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมมือกันขับเคลื่อนการจัดงานผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ปีนี้จัดเป็นปีที่ 6 มีเทศบาลตําบลท่าปลาเป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้รับการสนับสนุนจากเขื่อนสิริกิติ์ อบจ.อุตรดิตถ์ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูศาสนา เผยแพร่ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น

กิจกรรมในงานเน้นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของดีอําเภอท่าปลา โดยมีไฮไลต์ คือ “ขบวนแห่ผีตลก” ซึ่งเป็นของดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาว อ.ท่าปลา พิธีกรรมการเข้าหัวผีตลกที่วัดท่าปลา/ขบวนแห่ผีตลก/ขบวนวัฒนธรรมประจำถิ่นวิถีชีวิตคนท่าปลา ชมการแสดงแสงสีเสียง “100 ปี อำเภอท่าปลา 50 ปี เขื่อนสิริกิติ์ 90 ปีพระพันปีหลวง” นำเสนอความวิถีชีวิตและความเป็นมาของชาวท่าปลาในอดีต ก่อนการอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของวิถีชีวิตชาวท่าปลา จากโครงการตามพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี นอกจากนี้ ยังมีการจัดขบวนวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น บูธวัฒนธรรมเด่นของแต่ละท้องถิ่น การสาธิตภูมิปัญญาเด่นแต่ละสาขา (ข้าว ผ้า ยา บ้าน) กิจกรรมบันเทิง มีดนตรี มวยไทย รำวงย้อนยุค การแสดงซอล่องน่าน ลานวัฒนธรรมอำเภอท่าปลา เอกลักษณ์ของชาวท่าปลาที่นำเสนอในงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและของดีอำเภอท่าปลา และกาดโบราณขายอาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชาวท่าปลา สินค้า OTOP เช่น มะม่วงหิมพานต์, ผลิตภัณฑ์ปลา, ปลาซิวแก้ว, ปลาย่าง, ผ้าทอพื้นเมือง, ผลไม้จากนางพญา, ทุเรียน ลางสาด ลองกอง และผลไม้ป่า ฯลฯ

นายดนัย อู่ทรัพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าปลา กล่าวว่า ประเพณีแห่ผีตลก อ.ท่าปลา เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่มีมานานหลายร้อยปี ชาว ต.ท่าแฝก (อ.ท่าปลาเดิม) จะจัดในเทศกาลบวชพระ ซึ่งในอดีตการบวชพระของชาวท่าแฝก จะบวชพร้อมกันปีละครั้ง เรียกว่า ผีตลก จัดขึ้นในเทศกาลออกพรรษา โดยมีความเชื่อว่า ในสมัยพุทธกาลในวันออกพรรษาของทุกปี พระพุทธเจ้าเปิดโลกให้สัตว์นรกได้มีโอกาสรับส่วนบุญ ส่วนกุศล จะมีพวกผีเปรต สัตว์นรกทั้งหลายขึ้นมาสู่โลกมนุษย์

ผู้ที่จะสวมหัวผีตลก จะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมสวมหัวผีตลกในป่าช้า จึงจะสามารถร่วมขบวนแห่ได้ สำหรับข้าวตอก ดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกู๊ก ต้นข่า ที่แห่ไปนั้นก็เพื่อนำไปตกแต่งวิหารหรือศาลาการเปรียญให้เสมือนป่าหิมพานต์ ระหว่างทางจะมีการตีฆ้อง ตีกลอง กระตุ้นให้เกิดความสนุกสนานครื้นเครง เชิญชวนชาวบ้านร่วมทำบุญ การบริจาคทาน วัตถุปัจจัยต่างๆ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน แสดงให้พุทธศาสนิกชนเห็นว่าเมื่อทำชั่วแล้วจะไปเกิดเป็นผีเปรต ผีนรก หน้าตา น่าเกลียดน่ากลัว ต้องเป็นทุกข์เที่ยวขอส่วนบุญส่วนกุศลกับชาวบ้าน เป็นการเตือนสติคนให้ละเว้นความชั่ว ประกอบแต่ความดีนั่นเอง