เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ดูแล กทม. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ นายชนินทร์ รุ่งแสง ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางกอกน้อย ลงพื้นที่พบปะประชาชนในงานมอบถุงเติมสุข 400 ครอบครัว ที่ชุมชนวัดสุวรรณราม (บ้านบุ) ลานกีฬาชุมชนริมทางรถไฟบางกอกน้อย

นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ของเลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ว่า เพื่อสะท้อนว่าบุคลากรที่มาร่วมงานกับพรรคฯเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะทำหน้าที่ได้ทันที สะท้อนว่าทีมกรุงเทพฯ ของเรามีความพร้อม รวมไปถึงประชาธิปัตย์ทั้งพรรคก็มีความพร้อม ตอนนี้ต้องถือว่ากำลังจะก้าวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแล้ว ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันไหน ตนคิดว่าหลายฝ่ายคงคาดการณ์ได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นมาแล้วว่าถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ จะไปเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.66 แต่หากมีการยุบสภา ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต้องเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ซึ่งทั้งหมดมีกติกากำหนดไว้ชัดเจนแล้ว อย่างที่ตนเคยพูดว่า การเมืองไทยมีทางออกเสมอ ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ ของ น.ส.วทันยา ผ่านไป 1 วัน ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้รับเสียงตอบรับดีมาก ซึ่งพวกเราก็ชื่นชมและชื่นชอบ น.ส.วทันยา อยู่แล้ว ตนหวังว่าชาวกรุงเทพฯ และคนไทยทั้งประเทศก็ชื่นชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้จะมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในพรรคฯ และจะทยอยเปิดตัวอีก เช่นในวันที่ 24 ก.ย.65 ตนจะเดินทางไปเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการ “รวมพลังชาวสุราษฎร์หนุนประชาธิปัตย์ยกทีม” ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในสุราษฎร์ธานี มี 6 เขต ประชาธิปัตย์ได้ทั้งหมด ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มมาเป็น 7 เขต เราจะได้ยกทีมอีกเช่นกัน

เมื่อถามว่า เมื่อมีการเสริมทีม กทม.แล้ว ได้ตั้งเป้า ส.ส.ไว้อย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ถึงกับบอกว่าประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.กี่คน แต่เรามั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เสียงตอบรับจากชาวกรุงเทพฯ ดีขึ้นแน่นอน ดูได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่ผ่านมา

ส่วนวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งเริ่มนับ 180 วัน ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งมีการกำชับสมาชิกพรรคฯในการหาเสียงอย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด ไม่มีใครละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญได้ และกกต.ก็เป็นผู้กำกับ เพราะฉะนั้น กกต.ว่าอย่างไร ก็ต้องว่าอย่างนั้น ตอนนี้กำลังรออยู่ว่า สุดท้ายรายละเอียดทั้งหมด กกต.จะว่าอย่างไร เพราะทุกฝ่ายมีคำถามและสิ่งที่อยากเห็นว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ต้องบอกให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบกฎหมายก็จะทำให้พรรคการเมืองปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอว่าให้ลองทำดูเดี๋ยวบอกเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ทำยาก เพราะทุกพรรคมีปัญหาเหมือนกัน จึงอยากเห็นคำตอบของ กกต.ที่เป็นรูปธรรมที่สุด

ทางด้าน น.ส.วทันยา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย หลังสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 วัน รู้สึกตื่นเต้น เพราะเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดี และเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีชาวบ้านเป็นฐานเสียงที่พร้อมสนับสนุนเสมอ.