เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยทางเลือกนำมาใช้ทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ได้ค้นพบไมโคไรซา เชื้อราในดินกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่รากพืชและเจริญเข้าไปในรากแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยพืชจะให้อาหารประเภทน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงแก่ไมโคไรซา
ซึ่งเซลล์ของรากพืชและเชื้อราไมโคไรซ่าจะถ่ายทอดอาหารกันและกันได้ โดยเส้นใยของราไมโคไรซาที่เจริญห่อหุ้มรากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากพืชให้ดูดน้ำและธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตในดินส่งต่อให้พืช โดยเฉพาะธาตุอาหารที่สลายตัวยาก หรืออยู่ในรูปที่ถูกตรึงไว้ในดินส่งต่อให้พืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสที่มักถูกตรึงไว้ในดิน
จากคุณสมบัติของเชื้อราไมโคไรซา กรมวิชาการเกษตรจึงนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชช่วยเพิ่มคุณภาพและผลผลิต พืชเจริญเติบโตและทนแล้งได้ดี รวมทั้งยังทนโรครากเน่าหรือโคนเน่าที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากราไมโคไรซาที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรากพืชจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่าเข้าสู่รากพืชได้ และยังช่วยลดใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่งของอัตราการใช้ปุ๋ยปกติ ถ้าใช้ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายธาตุฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พืชมากขึ้น เนื่องจากจุลินทรีย์กลุ่มนี้มีประโยชน์ในการละลายฟอสเฟตออกมาใช้งานเช่นกัน
โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตให้บางชุดดินที่วิเคราะห์แล้ว พบว่ามีปริมาณฟอสฟอรัสในดินสูง ซึ่งจุลินทรีย์ที่ใส่เติมลงไปจะไปละลายฟอสฟอรัสที่ถูกยึดตรึงอยู่ในดินออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกครั้ง และยังมีคุณสมบัติพิเศษสังเคราะห์สารช่วยเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นส่งเสริมต่อการเจริญเติบโตของพืช
ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซาเป็นเชื้อราในดินที่จะเข้าไปอยู่ในรากของต้นไม้ เป็นกลุ่มที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสสำคัญต่อการแตกราก ช่วยเพิ่มปริมาณรากให้ต้นไม้ได้ดี ถ้าขาดฟอสฟอรัสต้นไม้จะแคระแกร็น ส่งผลต่อการติดดอกออกผล ส่วนปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตมีจุลินทรีย์ที่ละลายฟอสเฟตที่อยู่ในดินบางรูปที่พืชใช้ไม่ได้ให้ละลายออกมาเป็นประโยชน์แก่พืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น โดยปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตจะทำงานอยู่นอกรากพืช
ขณะที่ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าจะทำงานอยู่ในรากพืช ดังนั้นหากใช้ร่วมกันจะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารฟอสฟอรัส ธาตุอาหารสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญช่วยลดต้นทุน เพราะสามารถลดใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรได้ครึ่งหนึ่ง และการใส่ปุ๋ยชีวภาพครั้งเดียวสามารถทำงานอยู่ได้จนตลอดชีวิตของพืช เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 0-2579-7522-3