นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ว่า ขณะนี้ภาพรวมการพัฒนาฯ มีความคืบหน้าประมาณ 5% ล่าช้าจากแผนประมาณ 3-4 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดมาตรการต่างๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยยังอยู่ในขั้นตอนของงานพื้นที่ถมทะเล ซึ่งเป็นงานส่วนแรก มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) เป็นผู้ดำเนินโครงการในวงเงิน 21,320 ล้านบาท โดยในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1) ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 ส.ค.65 จากเดิมต้องแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.65

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนงาน Key Date 2 และ Key Date 3 ทาง กทท. ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่างาน Key Date 2 จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 ขณะที่งาน Key Date 3 จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 66 อย่างไรก็ตามเบื้องต้น กทท. คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้แก่บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เข้าไปดำเนินการติตตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ภายใน พ.ค.-พ.ย.66 จากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ครบ 2,000 เมตร ประมาณเดือน พ.ค.68

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับงานส่วนที่ 2 งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเปิดประกวดราคา (ประมูล) ได้ภายในเดือน ต.ค.65 และจะได้เอกชนผู้ชนะประมูลภายในปี 65 ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ในขั้นตอนร่าง TOR คาดว่าส่วนงานที่ 3 จะเปิดประมูลในเดือน พ.ย.65 และส่วนงานที่ 4 จะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค.65 และได้ผู้ชนะประมูลประมาณต้นปี 66 อย่างไรก็ตามคาดว่า GPC จะเริ่มบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ได้ภายในปี 68

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 มูลค่าการลงทุน รวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 50,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุน 60,000 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี (ท่าเทียบเรือ F) โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าให้แก่ท่าเรือแหลมฉบังจากปัจจุบันรองรับได้ 11 ล้าน ที.อี.ยูต่อปี เป็น 13 ล้าน ที.อี.ยูต่อปี ในปี 68 เมื่อเปิดให้บริการในส่วนของท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 1 (F1) จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้าน ที.อี.ยูต่อปี ในปี 72 เมื่อเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 2 (F2)