หลังจากที่ขายมาระยะหนึ่ง ก็ถึงจุดที่รถแทบทุกรุ่น ถ้าไม่ตัดสินใจเลิกขายไปซะ ก็จะต้องมีการเก็บบทเรียนจากรุ่นที่ขายมาก่อน เพื่อนำมาปรับปรุงให้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และรถของเราในวันนี้ถ้าไม่ผิดไปจากที่คิดไว้ก็คือ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ (ToyotaC-HR) ในเจนเนอเรชั่นที่สอง
ภาพที่ได้มาจากการเผยแพร่ของ สำนักสิทธิบัตรของประเทศออสเตรเลีย ที่ทำให้เราเห็นถึงรูปทรงของรถสไตล์ เอสยูวี ขนาดกะทัดรัด ซึ่งมีการคาดเดากันไปว่าอาจจะเป็นรถไฟฟ้าขนาดย่อมลงมาจาก รุ่นบีซีส์ 4 เอ็กซ์ (bZ-4X) ที่จำหน่ายไปก่อนหน้านี้ โดยคาดการณ์กันว่าน่าจะใช้ชื่อว่าบีซีส์ 2 เอ็กซ์ (bZ-2X) แต่เมื่อดูจากขนาดของกระจังหน้าแล้ว ก็ชวนให้คิดว่ามันมีพื้นที่ของกระจังหน้าใหญ่กว่าของรถไฟฟ้าทั่วไปพอสมควร จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบไฮบริด ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นใครไปได้ นอกจากรุ่น ซี-เอชอาร์ เจนเนอเรชั่นที่ 2
ซึ่งการคาดการณ์ว่าจะเป็นรถทั้งสองรุ่นนี้ ก็อยู่ภายใต้พื้นฐานว่า โตโยต้า มีสถาปัตยกรรมสำหรับรถไฮบริด ขนาดคอมแพ็คในชื่อของ แพลตฟอร์ม อี 3 (E3 Platform) ที่เป็นการรวมกันของแพลทฟอร์ม รถสันดาปและรถไฟฟ้า อยู่นั่นเอง โดยเชื่อกันว่าในขนาดของพื้นที่ที่มีนั้น น่าจะพอเพียงกับแบตเตอรี่ ขนาดต่ำกว่า 70 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งก็พอเพียงกับทั้งการนำไปใช้กับรถปลั๊ก-อินไฮบริด แต่อาจจะตึงมือสักนิดสำหรับรถไฟฟ้าล้วนในเจนเนอเรชั่นต่อไป
ว่ากันด้านรูปทรงแล้ว ก็ต้องบอกว่ามีความล้ำสมัย โดยได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากรถไฟฟ้ารุ่นพี่ bZ-4X ไม่น้อย เริ่มต้นจากไฟหน้ารูปตัว C ที่เฉียบขาด ไปจนถึงไฟท้ายทรงเส้นยาวบางโอบล้อมมายังตัวถังด้านหลัง บ่งบอกถึงยุคสมัยของงานออกแบบที่กล้าหาญและเฉียบคม ของโตโยต้า ในยุคปัจจุบันนั่นเอง
ด้านงานออกแบบตัวถัง เป็นการผสมผสาน เส้นสายที่คม และพื้นผิวที่เรียบตึง ก่อเกิดเป็นมวลมัดกล้ามที่กระชับเหมือนกับกล้ามเนื้อของนักกรีฑา นับว่าโตโยต้าทำได้สวยไม่น้อย แต่จุดที่โดดเด่นของรถคันนี้เห็นจะเป็นการแบ่งรถออกเป็นสองสี ด้านหน้า และด้านหลังมีสีสันตัดกัน ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ในการออกแบบที่จัดจ้านโดนใจ ซึ่งเรียกว่า น่าจะโดนใจคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว
ทำไมถึงบอกว่า โดนใจคนที่ยังไม่มีครอบครัว นั่นก็เป็นเพราะการออกแบบนั้นแม้จะเป็นรถแบบ 5 ประตูแนวอเนกประสงค์ แต่ก็พยายามที่จะทำให้รถคันนี้มีบุคลิกสปอร์ต โดยการพรางเส้นสายให้ดูแล้วเป็นรถสปอร์ตคูเป้ยกสูง มากกว่าเป็นรถครอบครัวทั่วไป จึงทำให้พื้นที่กระจกของห้องโดยสารตอนหลังนั้นมีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปัญหาติดตัวมาตั้งแต่ในเจนเนอเรชั่นแรก และเมื่อดูจากภาพแล้วรถรุ่นใหม่ดูน่าจะมีกระจกเล็กลงไปกว่าเดิมเสียอีก ดังนั้นการนั่งเบาะโดยสารตอนหลัง จึงน่าจะมืดทึบเหมือนนั่งในถ้ำ ไม่ได้ต่างไปจากรถรุ่นแรก ซึ่งถ้าครอบครัวไหนผิดหวังมาจากรุ่นปัจจุบันแล้ว รุ่นต่อไปก็น่าจะไม่แตกต่างกัน
ซึ่งถ้าดูจากยอดขายของรถซี-เอชอาร์ ในบ้านเรานั้นก็ชัดเจนว่าไม่สามารถเอาชนะรถคู่แข่งจากฮอนด้า อย่าง เอชอาร์-วี (Honda HR-V) ได้ ส่วนหนึ่งนั้นชัดเจนว่ามาจากความรู้สึกทึบตันจนน่าปวดหัวของพื้นที่ตอนหลังนั่นเอง ซึ่งก็น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด โตโยต้าถึงยังคงดึงดันที่จะออกแบบให้พื้นที่กระจกของห้องโดยสารตอนหลังทึบตันเช่นนั้นเช่นเดิม ทั้งๆ ที่เห็นโลงศพก็ควรจะหลั่งน้ำตาไปก่อนหน้านี้แล้ว
ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่า รถที่สวยโดดเด่นอย่างรถที่ยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบคันนี้ จะทำผลงานได้ดีเพียงใดต่อไปนั่นเอง สุดท้ายยอดขายคือ คำตอบ!.
โดย : ภัทรกิติ์ โกมลกิติ