“วิกฤติขยะประเทศไทย” เป็นหนึ่งในฟอรั่มสำคัญในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2022” หรือSX 2022” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่าง 26 ก.ย.-2 ต.ค. 2565…

SX 2022” เป็น “มหกรรมด้านความยั่งยืน” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่เผชิญ “ความท้าทายในการจัดการปัญหาขยะ” โดยบนเวที Talk Stage วันที่ 26 ก.ย. วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ในฐานะนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการค้นหา “ทางออกเพื่อหยุดวิกฤติปัญหาขยะ” ได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อเรื่องนี้ไว้ สรุปใจความได้ว่า… วิกฤติขยะของไทยถือเป็นปัญหาใหญ่สำคัญที่ส่งผลต่อโลก เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดท็อปของโลกเรื่องนี้ โดยปัจจัยที่ทำให้ติดอันดับต้น  ๆ นั้นไม่ใช่ปริมาณขยะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะ ไทยยังมีปัญหากับ “ระบบการจัดการขยะ” มากกว่า ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะมีข้อจำกัดของระบบและโครงสร้างการจัดการขยะ

วรรณสิงห์ สะท้อนไว้ต่อไปว่า… แรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาสนใจปัญหาขยะ เพราะมองเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวคนเรามากกว่าที่คิด โดยช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกไปถ่ายทำรายการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตามที่วางแผนเอาไว้ เป็นจังหวะพอดีกับที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยผลิตคลิปวิดีโอให้กับแบรนด์หนึ่งซึ่งทำแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะ จึงทำให้เกิดความสนใจในเรื่องนี้ และตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการจัดการขยะในทะเล โดยพบว่า “ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนมาก” เมื่อลงลึกรายละเอียดก็พบว่าขยะมีมากมายหลากหลายชนิด แต่คนจะสนใจและมักพูดถึงแค่ ขยะพลาสติก อย่างเดียว ทั้งที่เป็นเพียงขยะชนิดหนึ่งเท่านั้น

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล บนเวที Talk Stage

หลังจากที่ได้ศึกษา วิจัย ค้นคว้าเพื่อค้นหาที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้พบว่า วิกฤติขยะของไทยไม่ได้มีสาเหตุจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น เพราะอีกหลายประเทศก็มีขยะในปริมาณที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับไทย แต่ ไทยมีปัญหาโครงสร้างการจัดการขยะที่เกิดขึ้นมากกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ปัญหาขยะของไทยเป็นวิกฤติ โดยแค่การปลูกฝังจิตสำนึกยังไม่ใช่ทางออก ซึ่งการจะ “แก้ปัญหาและหยุดวิกฤติ” ได้ อยากเสนอแนวทางที่ไทยควรต้องทำ ดังนี้…

ประการแรก ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะชนิดต่าง ๆ เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นส่วนตัวมองว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เป็นวิกฤติขยะนั้นเกิดจากการที่คนขาดข้อมูลความรู้การจัดการขยะมากกว่า โดยการขาดข้อมูลจะยิ่งทำให้คนสับสนในการคัดแยกขยะที่ตนเองได้ผลิตขึ้นมา ซึ่งเรามักจะโฟกัสแค่ขยะพลาสติกกับการรีไซเคิลเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ขยะพลาสติกเป็นเพียงแค่ขยะชนิดหนึ่ง ยังมีขยะอีกหลาย ๆ ชนิดที่ก่อปัญหาได้ไม่แพ้ขยะพลาสติก เช่น ขยะอินทรีย์ ที่ไทยก็ยังไม่ค่อยมีระบบจัดการที่ดีเพียงพอ ดังนั้น ถ้าเราช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะให้คนไทยได้มากพอ ก็จะทำให้เกิด “ระบบคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ” มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะลดลง

ประการที่สอง ออกกฎหมายการจัดการขยะให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอนที่ได้ลงไปศึกษาการจัดการขยะในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ทำให้พบว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายระดับชาติที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ โดยที่ผ่านมาปัญหานี้มักถูกยกให้เป็นหน้าที่องค์กรส่วนท้องถิ่นจัดการกันเอง โดยไม่มีระบบกลางที่จะมาช่วยตรงนี้ ที่เป็นเพราะเราไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ที่ชัดเจน

ประการต่อมาคือ ควรสร้างกลไกจัดการขยะให้เข้าถึงทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งการที่ระบบจัดเก็บขยะทำได้ไม่เต็มที่ หรือทำได้ไม่ทั่วถึงนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติขยะเช่นกัน โดยช่วงที่ได้ลงพื้นที่ดูปัญหาขยะกับทาง กทม. ทำให้ทราบว่า แม้แต่พื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็เกิดปัญหารถจัดเก็บขยะไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายพื้นที่ อีกทั้งงบประมาณที่สวนทางกันระหว่างค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการขยะ กับรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บขยะ เรื่องนี้ก็ทำให้เป็นปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่ากลไกการจัดการขยะที่ไม่ทั่วถึงก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ระบบจัดการขยะของไทยยังทำได้ไม่ดี

วรรณสิงห์ ในฐานะนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ยังได้ย้ำไว้ถึงปัญหาวิกฤติขยะและแนวทางในการหยุดวิกฤตินี้ว่า… ขยะไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวโยงถึงเรื่องภาวะโลกรวน-ภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งปัญหาขยะไปไกลกว่าแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เวลาที่พูดถึงปัญหาขยะจึงไม่ควรพูดถึงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาขยะเกี่ยวพันไปถึงทุก ๆ เรื่อง ซึ่งถ้าจะถามว่า ภาคส่วนต่าง ๆ ควรจะทำอย่างไรที่จะช่วยหยุดวิกฤติขยะได้ โดยส่วนตัวมองว่า ในมุมของภาคธุรกิจนั้น สิ่งที่น่าจะทำได้ทันที ได้แก่ 1.ลดการใช้ เพื่อไม่เพิ่มขยะ 2.ลดขยะที่ไม่จำเป็น เช่น ขยะกระดาษ 3.ลดการเดินทาง เพื่อช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และ 4.แยกให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดระบบจัดการขยะที่ดี …และในโอกาสนี้ วรรณสิงห์ ก็ยังได้ระบุไว้บนเวที Talk Stage ภายในงาน SX 2022” ด้วยว่า… ปัญหาขยะนี้เราทุกคนต้องเริ่มแก้ไขทันที เพราะผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่จะไปเกิดขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างที่เคยคิดแล้ว แต่จะเกิดขึ้นทันทีในยุคของพวกเรานี่เอง

ทั้งนี้ หัวข้อ Talk Stage “วิกฤติขยะไทย” นี่เป็นเพียงหนึ่งในฟอรั่มภายในงาน “SX 2022” หรือ “SUSTAINABILITY EXPO 2022” ซึ่งจัดระหว่าง 26 ก.ย.-2 ต.ค. 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งใหญ่ของภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “พอเพียงเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ นั้นสามารถติดตามได้ที่… เฟซบุ๊ค : SX.SustainabilityExpo หรือ เว็บไซต์ : www.sustainabilityexpo.com