นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า บวท. ได้ดำเนินการถ่ายโอนระบบ และนำระบบบริการการเดินอากาศ (Thailand Modernization CNS/ATM System : TMCS) ซึ่งเป็นระบบควบคุมจราจรทางอากาศระบบใหม่มาใช้แทนระบบเดิมมาใช้งานที่ศูนย์ควบคุมการบินหัวหินแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นฟันเฟืองส่วนสุดท้ายที่มาเติมเต็มความพร้อมของ บวท. ที่จะให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศระบบใหม่ได้อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เริ่มเปิดให้บริการจราจรทางอากาศด้วยระบบ TMCS ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นแห่งแรกเมื่อปี 62 จากนั้นได้ขยายการใช้งานระบบใหม่ไปยังศูนย์ควบคุมการบินทั่วประเทศ และที่ศูนย์ควบคุมการบินหัวหินเป็นที่สุดท้าย

นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ระบบ TMCS ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีระบบบริการการเดินอากาศครั้งใหญ่ของประเทศไทย ให้ทันสมัย มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงระบบการทำงานไปยังเครือข่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการให้บริการ รวมถึงเพิ่มศักยภาพระบบบริการการเดินอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินโลก

นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสนามบินหัวหินมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้านการปฏิบัติของผู้ทำการในอากาศ ประกอบกับเป็นฐานปฏิบัติการบิน และฝึกบินของหน่วยบิน ของทั้งทางราชการและพลเรือน เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นบุคลากรทางด้านการบิน ที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศ รวมถึงการฝึกปฏิบัติการในการสนับสนุนทางอากาศของหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติ และเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว มีธรรมชาติที่สวยงาม จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นประตูสู่ภาคใต้

นายณพศิษฏ์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน มีภารกิจสำคัญในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบิน และเขตประชิดสนามบิน ทั้งอากาศยานของทางราชการ อากาศยานฝึกบิน รวมถึงเที่ยวบินพาณิชย์ นอกจากนี้ยังให้บริการข้อมูล และสารสนเทศการเดินอากาศ ปัจจุบันสนามบินหัวหินให้บริการจราจรทางอากาศ เฉลี่ยวันละ 30 เที่ยวบิน โดยเป็นเที่ยวบินจากอากาศยานฝึกบินเป็นส่วนใหญ่ มีเที่ยวบินพาณิชย์เพียง 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บวท. ยังคงมุ่งมั่นในการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยี เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ เพิ่มโอกาสการเติบโตด้านการท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มฟื้นตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งของประเทศ และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล.