นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 66-70 (แผนฟื้นฟู รฟท.) หลังจากนี้ รฟท. จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งการดำเนินต้องแล้วเสร็จในปี 65 เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ในปี 66 โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้ รฟท. มีผลการดำเนินงานลดการขาดทุน และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 76

นายอวิรุทธ์ กล่าวต่อว่า แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้เน้นวางแผนธุรกิจ เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบรางทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน อาทิ จัดหารถจักรใหม่ 2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ บริหารจัดการขบวนรถโดยสาร เพื่อลดขาดทุน, พัฒนาขบวนท่องเที่ยว, ขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ และพัฒนาคุณภาพการบริการโดยสาร และสินค้า 3. พัฒนา และสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่าทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่, สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้

นายอวิรุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non-core) อาทิ ธุรกิจด้านอาหาร จัดขายตั๋วแบบมีแพ็กเกจ ผู้โดยสารสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ หรือจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารมากขึ้น 4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบทางคู่ที่ รฟท. โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้ระบบราง เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ รฟท. ยังอยู่ระหว่างจัดหาหัวรถจักรเพิ่ม อย่างไรก็ตามขณะนี้ รฟท. อยู่ในช่วงจัดหาหัวรถจักร เพื่อนำมาให้บริการใช้ระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งตามแผนต้องจัดหาเพิ่มเติมกว่า 100 คัน แต่ส่วนตัวมองว่า ต้องใช้หัวรถจักรมากถึงพันคัน ดังนั้นระบบรางของไทยยังมีศักยภาพรองรับการเดินรถได้อีกมาก

5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู โดย รฟท. จะเพิ่มสายงานด้านการตลาดในส่วนธุรกิจโดยสารและสินค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้จะปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้านค่าล่วงเวลา OT และค่าทำงานวันหยุด และ 6. พัฒนาระบบรางด้วยนวัตกรรมสีเขียว โดย รฟท. มีเป้าหมายที่จะปรับการให้บริการรถไฟบางขบวนจากเชื้อเพลิงดีเซลสู่การใช้ระบบไฟฟ้า (EV) ทั้งนี้ปัจจุบัน รฟท. มีภาระหนี้สินอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท

นายอวิรุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติสั่งจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตั้งแต่เดือน ต.ค.65-ก.ย.66 วงเงินประมาณ 476 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินดังกล่าว นอกจากจะเป็นเงินสำหรับค่าจ้างแล้ว ยังเป็นค่าบริหารจัดการ 8 ล้านบาท ซึ่งเดิมการสั่งจ้างจะมีแต่ค่าจ้างเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาในเชิงบริหารแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบริษัทลูก รฟท. และกระตุ้นให้งานบริการมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ที่ประชุมบอร์ด รฟท. จึงมีมติเพิ่มค่าบริหารจัดการดังกล่าวให้ด้วย.