เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พร้อม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม และความเสียหายต่อบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทำกินในหลายพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง ประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งพรรค พท. ได้ตระหนักถึงวิกฤติปัญหาดังกล่าว จึงออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องทั้งรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ 2 เรื่อง ดังนี้

1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ถือว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ต้องถือว่ากรณีนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นฉุกเฉิน จึงต้องบริหารแบบสถานการณ์พิเศษไม่ใช่บริหารแบบสภาพการณ์ปกติทั่วไป จะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงและทันท่วงที โดยต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและมาตรการเยียวยาในระยะต่อไปอย่างชัดเจน พรรค พท. มีประสบการณ์รับน้ำท่วมในปี 54 ซึ่งได้กำหนดมาตรการไว้อย่างมีแบบแผน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่ามีปัญหาใน 7 เรื่อง คือ 1.การเตือนภัย ให้กับพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าน้ำท่วมจะรุนแรงจนรับมือไม่ได้ โดยจากระบบการเตือนภัยของรัฐบาลที่ขาดการใส่ใจจากหลายฝ่าย การออกคำเตือนล่าช้า มาตรการไม่มีความพร้อม 2.ในสถานการณ์น้ำท่วมปี 54 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนเตรียมการไว้ โดยประเมินการรับมือในระดับเลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับเอาไว้ ซึ่งหากไม่เกิดขึ้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมการ 3.รัฐบาลต้องบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ภาวะเสี่ยง มาบริหารประเทศในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

4.วางระบบในการบริหารจัดการ โดยหน่วยดูแลบัญชาการ ปฏิบัติการชัดเจน ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างชัดเจน 5.การบริหารสถานการณ์น้ำท่วมต้องไม่นำระเบียบเดียวกัน มาบังคับเหมือนกันทั่วประเทศ โดยต้องดูรายพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วมถาวร พื้นที่น้ำท่วมทุกปี พื้นที่น้ำท่วมขังนาน เป็นต้น โดยแต่ละพื้นที่ต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน โดยการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดมาตรการอย่างไรโดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน 6.ต้องให้ความสำคัญกับภาคท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเข้ามาแก้ปัญหา รวมทั้งภาคส่วนเอกชน อาสาสมัครต่างๆ และ 7.แผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แม้ถูกตีตกไป ถือว่าเป็นกรรมของประเทศมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำแผนไปดำเนินการ และหากพรรค พท. มีโอกาสในการบริหารประเทศ พรรค พท. ก็มีแนวคิดจะดำเนินการ

ส่วนเรื่องที่ 2.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณากำหนดเงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ ปรับปรุงระเบียบให้พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของปวงชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ แม้จะอยู่ในช่วงระยะของ 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงก็ตาม เพื่อไม่ให้ระเบียบหรือข้อห้ามต่างๆ เป็นอุปสรรคในการจำกัดหรือทำให้การช่วยเหลือประชาชนซึ่งกำลังเดือดร้อนอย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ หากเปิดสมัยประชุมสภา พรรค พท. จะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น มาตรา 64, 65 และ 68 ต่อไป

“คำพูดที่ฟังแล้วอนาจใจคือ เดี๋ยวก็ชินแล้ว ประชาชนให้สัมภาษณ์สื่อว่า พวกคุณลองมาอยู่หรือไม่ เพราะชั้นสองของบ้านยังนอนไม่ได้ ทางแก้ระยะต่อไปต้องเร่งสร้างอาชีพรองรับในระยะ 3 เดือน ฟื้นคืนระบบโลจิสติกส์ เร่งจ่ายชดเชยต่อไร่การปลูกข้าว ค่าเยียวยาพื้นที่รับน้ำต้องเร่งจ่าย เพราะน้ำท่วมในปีที่แล้วประชาชนยังไม่ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

ทางด้าน น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังกว่า 10 จุดใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา พรรค พท. โดย ส.ส. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมทั้งคณะทำงาน กทม. ของพรรค ได้พยายามทำหน้าที่ในส่วนของตนเองเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาว กทม.อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทีมงานของพรรคได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำในคลองสายหลักพบว่า คลองหลายแห่งยังสามารถใช้ระบายน้ำได้อีกซึ่งตนในฐานะ ส.ส.กทม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกฎเหล็กของ กกต. เพื่อให้ ส.ส. ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ และควรจัดสรรงบกลางเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ รวมถึง กทม. อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้งบกลางในการยังไว้ในการจัดสรรอำนาจของตนเอง พร้อมทั้งขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดสรรเครื่องสูบน้ำแรงสูงระยะไกล เพื่อเตรียมทอนน้ำไปยังคลองสายหลักสำหรับฝนที่กำลังจะมาอีก และขอให้ทุกภาคส่วนของ กทม. เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเฉียบพลันให้ชาว กทม.อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบเตือนภัยให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) เกิดขึ้นอีก เพราะประชาชนไม่รู้ตัวว่า ฝนจะตกเมื่อไหร่ ที่ไหน ปริมาณมากน้อยเพียงใด จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายเช่นที่เกิดขึ้นในวันนี้ พร้อมทั้งขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่ามัวแต่สร้างภาพลงพื้นที่ชี้นิ้วสั่งการข้าราชการให้แก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ท่านใช้สติปัญญาในฐานะผู้นำประเทศ เร่งวางนโยบาย และแผนบริการจัดการน้ำภาคเหนือจรดภาคใต้ ให้เป็นระบบครอบคลุม เป็นรูปธรรมและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก เพื่อประโยชน์ของประชาชน

“สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ผ่านการคิดและหารือร่วมกันโดยนักวิชาการหลากหลายสถาบัน เป็นแผนจัดการน้ำรวม 10 โมดูล หากดำเนินการในวันนั้นจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในวันนี้ พรรค พท. ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด แต่รัฐบาลไม่เคยเปิดใจรับฟัง ทั้งที่ปี 54 พล.อ.ประยุทธ์ เคยเดินคู่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม แต่ไม่เคยใช้โอกาสนั้นเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และยังไม่สายที่จะนำแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไปดำเนินการ เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีแผนการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจเท่านั้น หมดเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วปล่อยให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ จึงขอให้รัฐบาลนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเตือนภัยล่วงหน้า ป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่า อย่าหันกลับไปใช้ทรานซิสเตอร์อีกเลย เพราะนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังเป็นภาระที่ประชาชนจะต้องจัดหาเงินมาจัดซื้ออีก” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีการเตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในโหมดว่าด้วยค่าใช้จ่าย ขณะนี้พรรคได้ร่างไว้แล้วหรือไม่ และจะสามารถจัดทำได้ในทันสมัยประชุมหน้าหรือไม่ ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ออกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทบัญญัติที่เขียนแตกต่างไปจากกฎหมายเดิมที่เราใช้บังคับอยู่ที่ว่าด้วยค่าใช้จ่ายว่าด้วยการเลือกตั้ง และโหมดว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง เขากำหนด 180 วันขึ้นมาตามกฎหมายเดิม เราใช้แค่ 90 วัน 

หากครบวาระอายุสภา ระยะเวลา 180 วัน ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ให้ถือว่าเป็นวันที่จะต้องนับเป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ตาม และโหมดว่าด้วยการหาเสียงก็รองรับด้วยว่า 180 วัน ถือเป็นการหาเสียงและมีข้อห้ามในการหาเสียง หากเกิดภาวะวิกฤติ เช่น มีอุทกภัย มีภัยพิบัติก็จะมีปัญหามากในการดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยเจตนารมณ์ที่กำหนดเช่นนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ไม่ให้พรรคใหญ่เอาเปรียบพรรคเล็ก ซึ่งการออกระเบียบเช่นนี้กลับไปกระทบกับประชาชน

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ทางพรรค พท. ได้ประชุมกัน และมีมติว่า 1.เราจะทำข้อเสนอไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าให้เขาทบทวนและพิจารณาว่ามีช่องกฎหมายใดที่สามารถกำหนดเป็นระเบียบได้ เพราะระเบียบสามารถตามกฎหมาย แต่เท่าที่ตนดูก็เห็นว่ามีช่องกฎหมายที่สามารถออกเป็นระเบียบและสามารถเว้นได้ เช่น ข้อห้ามตามมาตรา 73 ซึ่งเป็นข้อห้ามในการหาเสียง ที่ระบุไว้ชัดการได้มาซึ่งคะแนน คือการจูงใจให้ลงคะแนน ถ้ายังไม่เบอร์และผู้สมัครจะจูงใจให้ลงคะแนนให้ใคร เมื่อคุณไปสมัครจะครบองค์ประกอบ เป็นการเขียนกฎหมายล่วงหน้า ซึ่งไม่ควร เราดูว่ามาตรานี้สามารถเขียนระเบียบออกมารองรับได้ เช่น ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ในกรณีที่มีความจำเป็น และให้กำหนดวงเงินไว้เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ ซึ่งเราจะเข้าไปแก้ไข 

“การยกร่างไม่เป็นประเด็น ทำทันแน่นอน หากเราช่วยกันจริงๆ เมื่อเปิดสภา เราจะยื่นแน่ ยังมีเวลาอยู่ 6 เดือน หากไม่ยุบสภาก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวระเบียบที่มีปัญหาต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาวินิจฉัย เช่น ศาลปกครองมาดูว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร” นพ.ชลน่าน กล่าว.