ก็มีการเคลื่อนไหวจากภาคส่วนต่างๆ ทันที เริ่มจากการตั้งคำถามว่า แล้วพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะชูใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะถ้าจะชูบิ๊กตู่อีก สมัยหน้าก็อยู่ได้แค่ครึ่งสมัย แล้วหมดช่วงใช้บทเฉพาะกาล 5 ปีไปแล้วด้วย ดังนั้นก็ไม่มี ส.ว. มาช่วยเลือกนายกฯ อีก เกิดบิ๊กตู่หมดวาระแล้วเลือกใหม่โดยสภาผู้แทนราษฎร เห็นทีจะยาก

ยากเพราะแนวโน้มเรื่องความต้องการการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้มีเยอะมาก จากการที่ฝ่ายไม่ชอบ โหมข้อมูลข่าวสารในเชิงการบริหารงานห่วยของรัฐบาลมากๆ เข้า โดยท่องคาถาเรื่องก่อหนี้ ซื้ออาวุธเข้าไป โหมข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมที่ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ ก็ทำให้เกิดความอยากเห็นฉากทัศน์ใหม่ทางการเมือง ที่ไม่มี คสช. ครอบงำ

มีการ “โยนหินถามทาง” มาแล้ว โดย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. บอกทำนองว่า อาจเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เป็นแคนดิเดตในนามพรรค จากนั้นก็มีโฆษกพรรคออกมาปฏิเสธว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคล ….วันนี้ยังแค่นั้น ใกล้ๆ วาระเลือกตั้งอีกที เช็กเสียงอาจเป็นอีกแบบ

อย่างไรก็ตาม กระแสที่ชูขึ้นมาในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง นอกจากการเลือกตั้งให้ได้แลนด์สไลด์แล้ว ยังมีเรื่องที่จะให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้สามารถตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3 จากภาคประชาชนได้ เอาเป็นว่าเปิดสวิตช์ก่อน จะออกแบบที่มา ส.ส.ร. อย่างไรว่ากันอีกที

ประเด็นที่ต้องการแก้ไข ก็วนๆ กันอยู่เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง ถึงจะกัดจะตีกันอย่างไร แต่ที่สุดแล้ว นักการเมืองจะสมผลประโยชน์กันง่ายๆ ถ้าแก้ไขเรื่องกลไกการเข้าสู่อำนาจได้ง่ายขึ้น เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เพื่อจัดการกับเรื่อง ส.ส. พึงมี (ที่ทำเพื่อไทยเสียเปรียบ) แยกคิดปาร์ตี้ลิสต์กับเขตไปเลย

ที่บอกว่าจะแก้ไข ม.272 เห็นทีจะไม่จำเป็นหรอก เพราะ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลที่จะเลือกนายกฯ ได้ คงอยู่จนเลือกนายกฯ อีกหนแล้วหมดวาระ  ส.ว. ชุดต่อไปจะมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 มาจากการเลือกกันเอง จากกลุ่มต่างๆ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอถึงประเทศ ..แต่ถ้าจะแก้ให้เลือกตั้ง ส.ว. ก็เข้าใจได้

ที่น่าสนใจคือ “การแก้ไขที่มาของนายกฯ” จากเดิมที่เราคุ้นชินกับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคเสียงข้างมาก ได้เป็นนายกฯ แต่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ให้แต่ละพรรควิ่งรวมเสียงให้ได้มากที่สุด สำหรับเลือกตั้งครั้งหน้า การเลือกนายกฯ ยังขึ้นกับเสียง ส.ว. อยู่ ก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองรวมเสียงให้ถึง 376 เสียง เพื่อกันเสียง ส.ว. ออกไปในการโหวตนายกฯ

พรรคที่ประกาศไม่จับมือกับ พปชร. แน่นอน ก็อย่างเพื่อไทย ก้าวไกล สร้างอนาคตไทย (ซึ่งอาจมีรอยแค้นจากการเอานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคพ้น ครม. ทั้งที่เป็นคนแรกๆ ที่ชูเรื่องลุงตู่อยู่ต่อ) ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น ต้องรอดูว่า บิ๊กป้อมจะดีล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้หรือไม่

แต่ก็ไม่แน่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ อาจมีดีลซื้องูเห่ามโหฬารเกิดขึ้น ถ้ามีใครอยากอยู่ต่อแต่คะแนนปริ่มน้ำเกินไป ดังนั้นถ้าเรื่องที่มาของอำนาจ จะแก้ไขเรื่องที่มานายกฯ ก็น่าสนับสนุนอยู่ มันทำให้การเมืองไม่สกปรกมากเท่าไร ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่น่าแก้ ก็เป็นพวกการกำหนด “พันธสัญญา” เกี่ยวกับการออกกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชน วินัยการเงินการคลัง  

เบื้องต้นก็เห็นเรื่องที่มานายกฯ นี่แหละ ที่ต้องแก้ หลังจากหมดช่วงใช้บทเฉพาะกาล.