เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ได้มีการยืนยันคำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งเกาหลีใต้ ในกรณีของกลุ่ม ‘หญิงบำเรอ’ จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า พวกเธอสมควรได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยแต่ละคนจะได้รับเงินในจำนวนที่แตกต่างกันไประหว่าง 3 ล้านถึง 7 ล้านวอน (ประมาณ 79,000-184,200 บาท)

‘หญิงบำเรอ’ หมายถึงกลุ่มผู้หญิงที่เคยทำงานเป็นหญิงขายบริการในสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการทางเพศแก่ทหารในกองทัพสหรัฐ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

คำตัดสินนี้ยังเท่ากับเป็นการยืนยันว่า เมื่อ 65 ปีก่อน มีการจัดตั้งสถานที่เพื่อค้าบริการทางเพศในค่ายทหารสหรัฐที่เกาหลีใต้จริง โดยมีชื่อเรียกกันในท้องที่ว่า ‘Gijichon’ ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเหยื่อเพศหญิงจำนวนมาก

คิม ซุก-จา วัย 72 ปี หนึ่งในฝ่ายโจทก์จำนวนดั้งเดิมที่มี 121 คน ที่ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องการชดเชยจากฝ่ายทางการเกาหลีใต้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2557 กล่าวว่า จำนวนของคนที่ยื่นฟ้องในตอนนี้เหลือเพียง 95 คน เนื่องจากเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ 24 คน และมี 2 คนที่ขอถอนฟ้อง การชนะคดีในครั้งนี้ทำให้เธอถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความยินดี 

คิม เริ่มทำงานเป็นหญิงรับใช้ประจำบ้านตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เธอโยกย้ายตัวเองไปตามค่ายค้ากามหลายแห่ง เพื่อทำงานขายบริการตั้งแต่อายุ 19 ปี หลังจากมองเห็นโอกาสที่จะหาเงิน และยุติอาชีพนี้ตอนที่เธออายุ 59 ปี ในปี 2552

บรรดาหญิงบำเรอในค่ายค้าบริการทางเพศเหล่านี้ จะโดนบังคับให้เข้ารับการตรวจหาโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ศูนย์บริการสุขภาพสาธารณะ และถ้าหากตรวจเจอว่ามีเชื้ออยู่ในตัว พวกเธอจะโดนกักขังในทันที

มีค่ายค้ากามแห่งหนึ่งที่ได้สมญาว่า ‘Monkey House’ เนื่องจากมีผู้หญิงที่ถูกคุมขังหลังจากโดนฉีดยาเพนนิซิลิน เพื่อรักษากามโรค ซึ่งมักจะกรีดร้องอย่างเจ็บปวดบ่อยครั้ง เหมือนกับลิงที่โดนจับขังในกรงที่สวนสัตว์

คิม กล่าวว่า ในยุคนั้น ปัญหาใหญ่ของพวกเธอคือ ไม่มีใครคิดจะช่วยเหลือ และพวกเธอต้องหาวิธีปกป้องตัวเอง

กลุ่ม Camptown Women’s Human Rights Coalition ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 เพื่อช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิสตรีจากค่ายค้ากามที่รัฐมีส่วนจัดตั้งเหล่านี้ เป็นผู้คอยสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายโจทก์มาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ในปี 2561 ศาลชั้นอุทธรณ์เคยตัดสินคดีโดยคำตัดสินเอื้อประโยชน์แก่เหยื่อ อีกทั้งช่วยกระตุ้นเตือนรัฐบาลให้แสดงความรับผิดชอบคนกลุ่มนี้ ซึ่งทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยก็รีบยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต่อไปในทันทีที่คำตัดสินออกมา ซึ่งศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าจะบรรลุถึงคำตัดสินใจครั้งนี้ 

ในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีคำตัดสินครั้งนี้ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโจทก์ออกแถลงการณ์ระบุว่า คำตัดสินในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น พวกเขายังคงเรียกร้องขอให้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์เพื่อขอโทษเหยื่ออย่างเป็นทางการ และออกกฎหมายที่เอื้อโอกาสให้เปิดโปงปัญหาที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มหญิงบำเรอ รวมถึงให้การสนับสนุนแก่กลุ่มหญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้. 

แหล่งข่าว : english.hani.co.kr

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES