เมื่อวันที่ 5 ต.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้เผยแพร่ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. มีทั้งหมด 38 มาตรา โดยมีทั้งการป้องกันการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนร่วม ที่มีการกำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐในสังกัด เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม และให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพิ่มเติม เพื่อให้บุคลากรในสังกัดใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนโดยให้ครอบคลุมถึงเรื่องต่าง อาทิ
1.การไม่อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเรียก รับ หรือยอมรับผลประโยชน์ใด ๆ ให้กับตนเองหรือผู้อื่น
2.การไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัว มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณา อนุมัติ อนุญาตแผนงาน โครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือเป็นเหตุในการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
3.การไม่รับงานและปฏิบัติงานภายนอก ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับหน่วยงาน เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นการเฉพาะจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
4.การไม่ใช้เวลาราชการในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว
5.การไม่นำข้อมูลความลับของหน่วยงาน ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของ พวกพ้องและครอบครัว, การไม่นำทรัพย์สินของหน่วยงานไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น โดยไม่เป็นไปตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของหน่วยงาน
6.การไม่ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จัดสรรงบประมาณ หรือรายได้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้อง และเป็นช่องทางในการทุจริต
7.การไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนในการแสวงหาประโยชน์ใดๆ ให้กับตนเองหรือผู้อื่น และการไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้อิทธิพลเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าพนักงาน ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ส่วนการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มีการกำหนดไว้หลายมาตรา อาทิ
1.มาตรา 21 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ซึ่งตน ได้รับหรือรู้จากการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ของ ตนเองหรือบุคคลอื่น
2.มาตรา 22 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหรือออกจากราชการหรือ หน่วยงานของรัฐ กระทำโดยประการใดๆ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตนได้รับหรือรู้ในระหว่างการดำรงตำแหน่งหรือใช้ความลับดังกล่าวไปโดยทุจริต เว้นแต่ความนั้นมิได้เป็นความลับอีกต่อไป
3.มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงิน งบประมาณโดยรู้หรือควรรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยใช้อำนาจหรืออาศัยอำนาจที่ตนมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอหรือแปรญัตติหรืองบประมาณ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือสถานะของตนจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม หรือใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า โปร่งใส และมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่สามารถตรวจสอบได้
4.มาตรา 24 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งดำรง ตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐนั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม
5.มาตรา 25 ให้นำความในมาตรา 21 มาตรา 23 และมาตรา 24 มาใช้บังคับแก่คู่สมรส ของเจ้าพนักงานของรัฐและบุคคลอื่นซึ่งกระทำโดยอาศัยอิทธิพลของเจ้าพนักงานของรัฐด้วย
6.มาตรา 26 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้มีหน้าที่อนุมัติ อนุญาต หรือจัดการทรัพย์สินใน เรื่องใด ใช้อำนาจในตำแหน่งเข้าไปมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นโดยตนเองมีผลประโยชน์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อแทรกแซงดุลพินิจของผู้ปฏิบัติงานเพื่อมิให้เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง หรือทำให้เกิดการผิดขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ
7.มาตรา 27 การกระทำความผิดกรณีเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือสถานะเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ได้รับการแต่งตั้งหรือโยกย้าย หรือมีส่วนได้เสียกับบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งหรือโยกย้ายนั้น อันเป็นการผิดทำนองครองธรรมหรือทำให้การบริหารงานบุคคลได้รับการแทรกแซงหรือ ถูกกระทบกระเทือนโดยไม่เป็นธรรม หากเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ถือว่าเป็นความผิดตามหมวดนี้ด้วย
ทั้งนี้สำหรับบทกำหนดโทษ มีการระบุไว้ใน มาตรา 33 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 21 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 26 หรือคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 34 บุคคลหรือนิติบุคคลใดรับไว้ซึ่งประโยชน์โดยรู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมด้วยในการกระทำความผิดตามมาตรา 21 มาตรา 23 และมาตรา 24 ของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคลอื่นตามมาตรา 25 บุคคลนั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้ ทั้งนี้หากนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท และให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการทางสังคม เพื่อให้นิติบุคคลนั้นกระทำสาธารณประโยชน์เพิ่มเติมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ โดยให้นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายเอง
มาตรา 35 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 36 เจ้าพนักงานของรัฐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว.