เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้ นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปรักษาราชการแทน หรือไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นต้นไป เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ครม.ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้รับโอน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งเดิมที่เกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้อยู่ระหว่างขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งเดิมและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง นายนรุตม์ ธัญวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่รมว.เกษตรและสหกรณ์เสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 ก.ย.65 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 ถึงวันที่ 30 ก.ย.66  

ขณะเดียวกัน ครม.มีมติอนุมัติตามที่ รมว.ศึกษาธิการ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้ 1.นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 2.นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 3.นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง และ 4.นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ทางด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.ได้รับทราบผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปี 64 โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือในด้านการป้องกันการฟอกเงิน ได้ดำเนินการการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์หาความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเชื่อมโยงเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 594 คดี ด้านการปราบปรามการฟอกเงิน ได้การตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดจำนวน 739 คำสั่ง โดยได้ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา 158 เรื่องมูลรวม 2,393 ล้านบาท และยังมีส่วนที่ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไปแล้ว มูลค่ารวม 42,654 ล้านบาท ดำเนินการโดย 1.ขายทอดตลาด จำนวน 22 ครั้ง ทรัพย์สินที่ขายได้ 580 รายการ คิดเป็นมูลค่า 98.52 ล้านบาท 2.นำทรัพย์สินออกบริหาร 1,606 รายการ มีรายได้จากการบริหาร 33.42 ล้านบาท 3.การนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดส่งคืนเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าทั้งสิ้น 172.85 ล้านบาท 4.นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดิน มูลค่าทั้งสิ้น 1,967.87 ล้านบาท

ส่วนการกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ได้รับรายงานการทำธุรกรรม จำนวน 20.48 ล้านธุรกรรม โดยเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 129,875 ธุรกรรม และธุรกรรมเงินสดผ่านแดน 3,645 ธุรกรรม สำหรับด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ปปง.ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้ดำเนินการส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมจำนวน 55 ฉบับ กับ 52 ประเทศ เป็นต้น  

ทั้งนี้ ปปง.ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ส่งผลให้ในปี 64 ที่ประชุมกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) พิจารณาเห็นชอบให้ไทยมีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ในด้านกรอบกฎหมาย จำนวน 31 ข้อ คงเหลืออีก 9 ข้อ และด้านประสิทธิผล จำนวน 4 ด้าน คงเหลืออีก 7 ด้าน โดยในระยะต่อไป ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อรักษามาตรฐานที่ดีให้คงไว้ ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น.