นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้รายงานความคืบหน้าผลการศึกษาทบทวนแนวเส้นทางโครงการก่อสร้าง ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตร) ว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างใหม่ จากเดิมทางยกระดับ เปลี่ยนเป็นอุโมงค์ทางลอดลึกลงไปใต้ดินประมาณ 23-25 เมตร บนถนนงามวงศ์วาน มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผ่านแยกเกษตร แยกบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต ไปสิ้นสุดบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จากนั้นจะโผล่ขึ้นบนดินเป็นทางยกระดับ เพื่อไปเชื่อมกับทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) บริเวณทางแยกต่างระดับแคราย ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร (กม.)

นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า ภายในเดือน ต.ค.65 จะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปเจรจากับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อให้ทราบว่า รูปแบบที่ กทพ. ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ ไม่มีผลกระทบแม้แต่รั้วของ มก. แต่เป็นทางออกที่เป็นผลดีกับประชาชนทุกภาคส่วน และ หาก มก. เห็นด้วยจะนำไปสู่ขั้นตอนการออกแบบก่อสร้าง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า หาก มก. เห็นด้วยกับการปรับแบบ N1 กทพ. จะนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบรูปแบบใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ประมาณการว่ารูปแบบโครงการ N 1 ที่เปลี่ยนไปจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 20,000 ล้านบาท มากกว่าการก่อสร้างแบบทางยกระดับแบบเดิมอยู่ประมาณ 3 เท่า ซึ่งงบประมาณเดิมอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ด่วน) เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก หรือชื่อเดิมทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 (เกษตร-นวมินทร์) เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น กทพ. ยืนยันที่จะดำเนินโครงการไปก่อน โดยไม่รอ N1 เนื่องจากมีความพร้อมทุกอย่างแล้ว เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสิ้นเดือน ต.ค.65 ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติภายในสิ้นปี 65.