เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตระลอกเดือน เม.ย.2564 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค.2564 ระบุว่า ยอดสะสมผู้ติดเชื้อในระลอกนี้มีทั้งหมด 834,326 ราย มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7,032 ราย คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนของผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีมากที่สุด คือ 12.48 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี 4.19 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องเน้นย้ำการเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ อีกทั้งมีการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-11 ส.ค. 2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 185 ราย และเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ข้อมูลการติดเชื้อผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-12 ส.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 353 ราย เสียชีวิต 104 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน

โฆษก ศบค. กล่าวว่า นอกจากนี้ได้นำเสนอข้อมูลการเปรียบเทียบตัวเลขคาดการณ์ กับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ได้รับรายงานในสถานการณ์จริง ว่า ถ้าไม่มีการล็อกดาวน์เลย คาดว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 ประมาณ 60,000-70,000 รายต่อวัน แต่หลังจากที่เรามีการล็อกดาวน์ ซึ่งเริ่มทำได้อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ทำให้คาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงอยู่ คือประมาณ 45,000 รายต่อวัน จึงจำเป็นที่ทุกคนทั้งประเทศต้องร่วมกันให้มากขึ้นเพื่อกดกราฟนี้ โดยต้องอาศัยการล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25 เปอร์เซ็นต์ นาน 2 เดือน และต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเป้าหมาย ภายใน 1-2 เดือน จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณวันละ 20,000 ราย รวมถึงทำให้การอัตราการครองเตียงลดลง และลดการเสียชีวิตด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนผู้ป่วยสะสมในจังหวัดต่างๆที่มีการนำเข้าผู้ติดเชื้อกลับมารักษา โดยแบ่งตามเขตสุขภาพที่ 1-12 ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-12 ส.ค. 2564 นั้น พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน คือ เขตสุขภาพที่ 7 มีจำนวน 18,771 ราย เขตสุขภาพที่ 8 มี 19,750 ราย เขตสุขภาพที่ 9 มี 27,394 ราย เขตสุขภาพที่ 10 มี 17,120 ราย.