เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นคำร้องฝากขังผู้ชุมนุมม็อบทะลุฟ้า ต่อศาลอาญาเป็นครั้งแรกผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวม 3 สำนวน จำนวน 13 คน ประกอบด้วยนางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ป้าเป้า อายุ 67 ปี, นายนพดล สินบุญเชิญ อายุ 51 ปี, นายธนา กำพูล อายุ 35 ปี, นายเอกณัฎฐ์ สมบัติยิ่งวัฒนา อายุ 28 ปี, นายวีรวัฒน์ คัมภีร์ทูล อายุ 19 ปี, กฤษณะ มีนา อายุ 29 ปี, นายปภังกร โพธิ์เจริญ อายุ 36 ปี, น.ส.เมษา เถื่อนมา อายุ 23 ปี, น.ส.อภิชาต ศิริมา อายุ 22 ปี, นายณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล อายุ 19 ปี, นายชัยพัทธ์ ศักดิ์ศรีเจริญยิ่ง อายุ 22 ปี, นายอาทิตย์ สากลวารี อายุ 20 ปี, นายน้ำเชี่ยว เนียมจันทร์ อายุ 19 ปี ชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ส่วนนายกัณฐกะ พรมโต ผู้ต้องหาคดีนี้อีกราย ได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน

คำร้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 15.35 น. ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่อกลุ่ม “ทะลุฟ้า” นัดหมายทำกิจกรรมใช้ชื่อว่า “ไล่ล่าทรราช” ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. ซึ่งกีดขวางการจราจรเป็นเหตุให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนชุดจับกุมจึงได้นำกำลัง 1 กองร้อย ไปดูแลความสงบเรียบร้อยที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 15.35 น. ขณะที่ตำรวจนำกำลังไปถึง มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเข้ามาตรงบริเวณที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตั้งแนววางกำลังอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถี วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาขวดแก้ว และถุง ซึ่งภายในบรรจุสีใส่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งให้ยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับ แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยุติการชุมนุมและยังคงขว้างปาขวดแก้วใส่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาเมื่อตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้กระชับพื้นที่จนสามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในบริเวณดังกล่าวได้ โดยพบ นางวรวรรณ หรือ ป้าเป้า ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกทั้งหมดอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมดังกล่าว ขณะเกิดเหตุด้วย ตำรวจจึงจับกุมดำเนินคดี ในข้อหา “ร่วมกันกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือ คำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ไม่เลิก” เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215 วรรคแรก, 216, 296, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34, 35, 52, พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การปิดสถานที่ชั่วคราว ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 10 ก.ค.2564 จากนั้นจึงควบคุมตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนยังระบุว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้ต้องหามาโดยตลอด จะครบกำหนด 48 ชั่วโมงแล้ว หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานจำนวน 20 ปาก, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวน มีกำหนด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 13- 24 ส.ค. 64 และหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากได้กระทำการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งยังไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้างและยังเข้าร่วมชุมนุมก่อเหตุร้ายหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการวางเพลิงเผาทรัพย์สินของทางราชการ ทุบทำลายทรัพย์สินจนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาดำเนินคดีที่มีโทษร้ายแรงต่อไป หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการ

ด้านนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า จะยื่นประกันตัว นางวรวรรณ หรือ ป้าเป้า กับผู้ต้องหาอื่นอย่างน้อย 7 คน ต่อศาลอาญาในวันนี้ โดยเตรียมใช้ตำแหน่ง ส.ส.และเงินสด ในการประกันตัวผู้ต้องหา ส่วนประเด็นที่พนักงานสอบสวนระบุในคำร้องว่า ป้าเป้ากระทำความผิดนั้นเป็นการกล่าวหาโดยรวม ไม่ได้มีรายละเอียดว่าไปกระทำผิดอย่างไรบ้างและจากเอกสารบันทึกการจับกุมระบุชัดเจนว่าไม่พบสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด และหากพบผู้กระทำความผิด ก็เป็นความผิดเฉพาะรายไป จะเหมารวมว่าผุ้ชุมนุมทั้งหมดกระทำผิดกฎหมายไม่ได้.