เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า การบริหารจัดการการบริหารวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ที่ได้รับมาจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโด๊สนั้น มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และไม่ต้องกังวลว่าจะมีลอตใดที่มีการสูญหาย เพราะได้มีการแบ่งชัดเจนว่าจะไปในกลุ่มใดบ้าง และขอย้ำว่าไม่มีเรื่องการนำวัคซีนนี้ไปฉีดให้วีไอพี หากใครพบเห็นหรือมีข้อสงสัย สามารถแจ้งเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทันทีเพื่อจะได้ตรวจสอบ ยืนยัน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคฯ กล่าวอีกว่า การกระจายวัคซีนดังกล่าวไปยัง 77 จังหวัดนั้น แบ่งการส่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกส่งแล้ว 442,800 โด๊ส เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.ที่ผ่านมา การส่งรอบที่ 2 เริ่มทยอยตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดเรามีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอด เพื่อตรวจดูฐานข้อมูลและปริมาณการฉีดของแต่ละที่ที่ได้รับ ขณะเดียวกัน พื้นที่ก็จะได้ใช้ตรวจสอบ ดังนั้นถ้าใครเข้าใจว่าตัวเองเป็นบุคลากรที่มีความเสี่ยง แต่ยังไม่มีรายชื่อได้รับจัดสรรวัคซีนดังกล่าว สามารถแจ้งต่อผู้บริหาร เพื่อจะพิจารณาหลักเกณฑ์และส่งชื่อเข้ามาได้ ซึ่งถ้าพบว่าตรงตามหลักเกณฑ์แล้ว ก็จะได้รับการฉีดครบถ้วนทุกคน ซึ่งคาดว่าการส่งในรอบ 2 นี้จะถึงพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค.นี้ สำหรับการทยอยส่งวัคซีนเช่นนี้จะเป็นประโยชน์เรื่องการจัดเก็บ การดูแล และการรักษาอุณหภูมิของวัคซีน

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่ม 608 คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปนั้น มีการจัดส่งไปแล้ว 320,880 โด๊ส ใน 13 จังหวัด ซึ่งในส่วนที่เหลือ เราจะจัดส่งไปให้ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้   ซึ่งการแยกส่งอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ เพราะวัคซีนที่ส่งไปในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้นั้น เมื่อฉีดเข็มที่ 1 แล้ว จะฉีดเข็มที่ 2 หลังผ่านไปแล้ว 3 สัปดาห์ ดังนั้น ถ้าส่งวัคซีนไปลอตเดียวกัน แล้ววัคซีนถูกจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิปกติ จะสามารถเก็บวัคซีนได้แค่ 1 เดือน อาจทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพได้ การทยอยส่งจึงทำให้เกิดการบริหารการนัดหมายฉีด และอยู่ในระยะเวลาที่วัคซีนมีคุณภาพดี

ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยนั้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-30 ก.ค. 2564 มียอดรวมชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทยซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 280,075 คน ซึ่งคิดเป็น 5.72 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยทั้งหมด และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 74,587 คน ชาวต่างชาติที่เป็นผู้สูงอายุได้รับวัคซีนแล้ว 20,903 คน คิดเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในไทย ส่วนการแยกเป็นสัญชาตินั้น พบว่าผู้ที่มีสัญชาติเมียนมา ประมาณ 140,000 กว่าราย สัญชาติจีน 37,000 ราย ตามด้วยกัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น ลดหลั่นลงไป ส่วนนักเรียน/นักศึกษาไทยที่จะต้องไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้รับการฉีดวัคซีนแล้วรวม 2,878 ราย

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ยอดสะสมการฉีดวัคซีนในไทย ป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-12 ส.ค. 2564 มีจำนวน 22,508,659 โด๊ส มีผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 17,239,593 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 4,855,000 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 19,993 ราย ส่วนการกระตุ้นในบุคลากรการแพทย์ จำนวน 414,066 ราย ซึ่งถ้าแยกเป็นยี่ห้อวัคซีนไม่ว่าจะเป็นเข็มใดก็ตาม พบว่า ยี่ห้อซิโนแวค 10,794,083 โด๊ส แอสตราเซเนกา 9,685,262 โด๊ส ซิโนฟาร์ม 1,742,610 โด๊ส และไฟเซอร์ 286,704 โด๊ส

ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า สำหรับผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 2564 ซึ่งมียอดสะสมการฉีดวัคซีน ประมาณ 20,669,780 โด๊ส แยกเป็นกรณีของวัคซีนซิโนแวค ฉีดแล้ว 10 ล้านโด๊ส ซึ่งพบรายงาน 2,258 เหตุการณ์ คิดเป็น 22 เหตุการณ์ต่อ 100,000 โด๊ส อาการแพ้รุนแรง 22 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.2 ต่อ 100,000 โด๊ส ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ฉีดแล้ว 9.06 ล้านโด๊ส พบรายงาน 2,606 เหตุการณ์ แพ้รุนแรง 2 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.02 ต่อ 100,000 โด๊ส  กรณีที่เกิดการกระตุ้นให้เกล็ดเลือดต่ำและเกิดลิ่มเลือดมี 2 ราย ซึ่งได้รับการดูแลและหายเป็นปกติแล้ว  ขณะที่วัคซีนซิโนฟาร์ม พบรายงานกรณีร้ายแรง 90 เหตุการณ์ คิดเป็น 6.10 ต่อ 100,000 โด๊ส ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งเริ่มฉีด จึงยังไม่มีการรายงานเข้ามา ส่วนกรณีของผู้เสียชีวิตหลังได้รับการฉีดวัคซีน 334 คน พบว่า 278 คน ไม่มีสาเหตุเกี่ยวกับวัคซีน และที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาผลชันสูตรโดยละเอียดต่อไป

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางคลาน จ.พิจิตร เพศชาย อายุ 44 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นั้น เราขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ที่เสียสละทุ่มเทในการทำงาน อาจด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขึ้นมา ทั้งนี้ รายละเอียดการชันสูตรและการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาตรวจสอบของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากได้ผลออกมาแล้ว ตนจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป.