นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการถรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 1 และ หมวด 4 เส้นทางกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็น 50% ถ้าเทียบกับช่วงที่ไม่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 เมื่อปี 62 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 100% ผู้โดยสารที่ใช้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นวัยทำงาน ส่วนมากหนาแน่นช่วงเร่งด่วนเช้า เวลา 06.00-09.00 น. และ เร่งด่วนเย็น 16.00-20.00 น. โดยช่วงเร่งด่วน ผู้โดยสารจะใช้บริการเต็มเกือบทุกเที่ยว ในจำนวนรถตู้ที่มีจำนวน 13 ที่นั่งต่อคัน ส่วนนอกเวลาเร่งด่วน จะให้บริการตามความต้องการของผู้โดยสารและใช้บริการอยู่ที่ 4-5 คนต่อคันต่อเที่ยว

นายปัญญา กล่าวต่อว่า จากการให้บริการในขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการรถตู้มีรายได้อยู่ที่ 1,200-1,500 บาทต่อคันต่อวัน ในจำนวนนี้ยังไม่หักใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งถ้าหักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเชื้อเพลิง แล้วเหลือประมาณไม่เกิน 500 บาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอที่สามารถนำมาบริหารจัดการเดินรถได้ ทั้งนี้ยังพบว่า รถตู้ที่ให้บริการยังมีการเดินรถทับเส้นทางที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ รถไฟฟ้าสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังให้บริการฟรี รวมทั้งยังมีการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ รถโดยสารพลังงงานไฟฟ้า (อีวี) ของเอกชน ซึ่งมีความใหม่ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทำให้กลุ่มผู้โดยสารมีทางเลือกและหันไปใช้รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง และรถเมล์ไฟฟ้ามากกว่าการใช้บริการรถตู้ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง และได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง

นายปัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พบว่า กลุ่มผู้โดยสารที่หายไป 50% นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารใช้บริการประจำ โดยเฉพาะกลุ่มทำงาน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้แม้จะคลี่คลาย แต่ภาครัฐและเอกชนยังมีการสลับวันทำงานให้เข้ามาทำงานที่หน่วยงานและทำงานที่บ้าน (Work From Home) ประกอบการนักศึกษาเรียนผ่านออนไลน์ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเดินทางเปลี่ยนไป เช่น เดิมทีนักศึกษาพักอาศัยอยู่ชานเมือง แต่ปัจจุบันนี้ย้ายมาอยู่ในเมือง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนยังสะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีความปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะด้วย

“ขณะนี้มีรถตู้ที่เป็นรถร่วม ขสมก. ให้บริการจำนวน 1,500 คัน จากเดิมที่มีประมาณ 2,000 กว่าคัน ส่วนที่หายไป 500 กว่าคัน เนื่องจากเจอผลกระทบโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารน้อย รายได้ลดลง ไม่มีกำลังเงินทุนที่จะเดินหน้ากิจการต่อ โดยเฉพาะการส่งค่างวดรถ เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย จึงจำเป็นต้องปล่อยให้รถโดนยึดจากบริษัทสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ต่างๆ ถ้าอนาคตสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ผู้ประกอบการรถตู้คงทยอยหายไปเรื่อยๆ” นายปัญญา กล่าว