เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ห้องประชุมเมืองคนดี ศาลากลาง จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี พร้อมเร่งดำเนินงานตามข้อสั่งการของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการตั้งคณะทำงานฯ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติอุทกภัย ทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด พร้อมนำคณะรองนายกฯ ลงพื้นที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรงและความพร้อมของระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำ จ.สุราษฎร์ธานี      

นายพงศ์รัตน์ กล่าวว่า ยผ. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ศึกษาและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดย จ.สุราษฎร์ธานี โดย ยผ. ได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 6 พื้นที่ชุมชน คือ ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี ชุมชนวัดประดู่ ชุมชนท่าข้าม ชุมชนตลาดไชยา ชุมชนเกาะสมุย และชุมชนเวียงสระ ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2 พื้นที่ชุมชน ได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2559-2563 เพื่อปรับปรุงคลองบางใหญ่ ความยาวประมาณ 4,446 เมตร และก่อสร้างประตูน้ำปลายคลองบางใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำที่สำคัญจากพื้นที่ชุมชนถึงคลองบางใหญ่และแม่น้ำตาปีครอบคลุมพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 3.61 ตารางกิโลเมตร ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองบางใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น ป้องกันน้ำหนุนเอ่อเข้าคลองบางใหญ่และล้นเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ป้องกันการบุกรุกล่วงล้ำลำน้ำคลองบางใหญ่และป้องกันการพังทลายของตลิ่ง อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลองบางใหญ่ด้วย 

นายพงศ์รัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2557-2566 ในพื้นที่ชุมชนเกาะสมุย จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเฉวง ชุมชนละไม ชุมชนแม่น้ำ ชุมชนบ่อผุด ชุมชนบางรัก และชุมชนปลายแหลม โดยเป็นการปรับปรุงท่อระบายน้ำ ปรับปรุงคลองระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ เพื่อรองรับการระบายน้ำออกจากชุมชนลงแหล่งน้ำสาธารณะและระบายออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ชุมชนอื่นๆ นั้นได้บรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งจะทยอยดำเนินการตามลำดับความเร่งด่วนต่อไป

นายพงศ์รัตน์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยหลายพื้นที่ในประเทศไทย สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ยผ. ได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ที่มีความห่วงกังวลต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้สั่งการให้ ยผ.จังหวัดทุกจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงาน สนับสนุนบุคลากรด้านช่างของ ยผ.จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัคร ภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าสำรวจและประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัย อาคารสิ่งปลูกสร้าง ยุ้งข้าว โรงเรือน รวมถึงสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอุทกภัยให้ได้รับการเยียวยาโดยเร็วที่สุด พร้อมขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้พี่น้องประชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่อไป.