นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังรอตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริงจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร แต่จากที่ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 64 จะยังขยายตัวได้ 6% เทียบกับปีก่อนมาจากผลของฐานที่ต่ำซึ่งไตรมาส 2 ปี 63 ได้เจอผลกระทบโควิด-19 ระบาดหนักในรอบแรกทำให้ต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จนเศรษฐกิจไทยขณะนั้นติดลบ 12%
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยหากเทียบไตรมาส 2 ปี 64 กับไตรมาสแรกปี 64 คงชะลอตัวเพราะเกิดโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจชะลอลง และยังต่อเนื่องมายังไตรมาส 3 จนถึงไตรมาส 4 ด้วยหากโควิด-19 ยังยืดเยื้อ แม้เศรษฐกิจไทยในเวลานี้จได้รับอานิสงส์จากการส่งออก สนับสนุนภาคการผลิตและแรงงานมีรายได้เพิ่ม ส่งผลดีต่อการบริโภคได้บ้าง แต่ยังมีเรื่องต้องติดตามคือการระบาดของโควิด-19 จะลามเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน หากต้องปิดกิจการคงกระทบต่อการส่งออกภาคการผลิต และต่อให้ส่งออกปี 64 ขยายตัว 10% ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ หรือจะติดลบมากกว่า 1%
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังมีการส่งออกสินค้าที่หนุน และการใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้ดี แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้คงจับตาโควิด-19 ลามไปสู่โรงงาน อาจกระทบภาคการผลิตเพื่อารส่งออกจะทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบมากกว่า 1% ได้”

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 64 จะขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีฐานต่ำจากการติดลบสูงถึง 12% แต่หากเทียบไตรมาสก่อนหน้า หรือไตรมาสแรกปี 64 จะติดลบ 1.8% เพราะไตรมาส 2 ที่ผ่านมาต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเม.ย. ถึงแม้จะติดลบ แต่เศรษฐกิจครึ่งปีแรกเทียบปีก่อนยังคงขยายตัวได้ 1.6%
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยฯกำลังทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ใหม่ อาจต้องรอตัวเลขจากสศช.ก่อน โดยปัจจุบันยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวได้ 1% แต่มีโอกาสติดลบหากโควิด-19 กระจายไปยังโรงงานกระทบต่อภาคการผลิต และยังมีผลต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาดได้