เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พท.และเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายวิรัตน์ วรศสิริน พรรคเสรีรวมไทย และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายสมพงษ์ กล่าวว่า เราได้รวบรวมและพิจารณาเห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบริหารวัคซีนและโควิด-19 รวมถึงด่านเศรษฐกิจต่างๆ เรามีความจำเป็นต้องยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลนั้น ประกอบไปด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันว่า เราได้มีการพิจารณอย่างถ่องแท้และศึกษาหารือกัน เนื่องจากมีการเสนอชื่อบุคคลมาจำนวนมาก โดยสรุปแล้วเมื่อมีการตรวจสอบแล้วจึงสรุปได้ 6 คน      

“เรามีการพูดคุยกัน ที่ประชุมมีการเสนอชื่อคนมาพอสมควร แต่เราก็สอบถามกันถึงเรื่องที่จะอภิปราย เราตั้งเป้าไว้ที่เรื่องเศรษฐกิจ และการทุจริต การจะอภิปรายบุคคลใดเราต้องตรวจสอบว่าการอภิปรายเราจะชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงข้อผิดพลาดของเขาได้อย่างไร เราทำงานร่วมกันเป็นคณะ โดยเราประชุมกันมาหลายครั้ง เรามองรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง ใหญ่สุดคือตัวนายกฯ โดยแต่ละบุคคลที่เราใส่ชื่อลงไปถือเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในหน่วยงานนั้นๆ” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเวลาในการอภิปรายคาดว่าวันนี้คงจะได้มีการประชุมกับทางประธานสภา เรื่องเกี่ยวกับวันและเวลาในการอภิปราย เบื้องต้นเราคิดว่าอยากได้เวลาเหมือนเดิมอย่างที่เคยอภิปรายไปครั้งที่แล้ว ประมาณ 3 วัน พร้อมย้ำว่าหลังการอภิปรายจะมีการรวบรวมเอกสาร และหลักฐานต่างๆ ไปยื่นร้องต่อองค์กรอิสระ หรือร้องศาลเพื่อดำเนินการสอบต่อไปแน่นอน ทั้งนี้ เราไม่เสนอชื่อนายกฯ มาแทนที่ ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นเหมือนทุกครั้งคงจะเสนอ

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ส่วนครั้งนี้จะเอาชนะรัฐบาลในสภาได้หรือไม่นั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่อภิปรายครั้งนี้ เรามั่นใจว่าหลักฐานต่างๆ มีความครบถ้วน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลต้องคิดว่า นอกจากจะฟัง ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ต้องฟังความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ และฝากประชาชนที่เลือก ส.ส.ว่าบุคคลที่เลือกไปเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังล้มตายหรือไม่ ส.ส.รัฐบาลต้องตัดสินใจเพื่อประชาชน เพราะไม่มีอะไรสุดๆ กว่านี้อีกแล้ว

ขณะที่ นายพิธา กล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้มีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เหตุใดภายหลังจึงไม่มีชื่อแล้ว ว่า เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของฝ่ายค้านที่มีมติให้โฟกัสเฉพาะ 6 คน ดังนั้นเพื่อรักษาบรรยากาศการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ไม่ได้มีปัญหาร่วมกันในการทำงาน แม้จะมีความเห็นต่างกัน เราตั้งใจอภิปรายเพื่อใช้กลไกสภาแก้วิกฤติ ลดความขัดแย้ง ถอดสลักชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

“การอภิปรายครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไปในวงกว้าง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากพอสมควร มีคนส่งข้อมูลมาให้พรรคไม่ขาดสาย ซึ่งบรรยากาศนอกสภาและในสภาขณะนี้ตรงกันว่าความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหลือแล้ว ต้องให้กลไกในสภาช่วยสร้างแรงสั่นสะเทือนอีกครั้ง” นายพิธา กล่าว

ด้าน นายชวน กล่าวว่า ตามกระบวนการเมื่อผู้นำฝ่านค้าน ได้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ตามระเบียบข้อบังคับสภาฯ จะตรวจสอบความถูกต้องของญัตติดังกล่าวทั้งรายชื่อและเนื้อหา เพื่อไม่ให้ขัดต่อข้อบังคับภายใน 7 วัน ซึ่งตามข้อบังคับต้องบรรจุเป็นเรื่องด่วน แต่ในทางปฏิบัติต้องแจ้งให้กับนายกรัฐมนตรีทราบ และหารือกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่า เมื่อรับญัตติแล้วเห็นสมควรอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเวลาใด ส่วนจะเป็นช่วงระยะเวลาใดนั้น ต้องมีการหารืออีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ผลในทางกฎหมายเมื่อมีการรับญัตติแล้ว จะไม่สามารถยุบสภาในช่วงเวลานี้ไม่ได้ ยกเว้นมีการถอนญัตติหรือลงญัตติไปแล้ว รวมถึงการอภิปรายยังสามารถทำได้อีกครั้งหนึ่งในมาตรา 152 คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติในสมัยประชุมครั้งถัดไปเพื่อข้อซักถามและให้คำแนะนำ.