เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงการดูเเลเเละบริหารจัดการขยะติดเชื้อ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติเเพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ในสถานการณ์วิกฤติการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กทม.มีขยะติดเชื้อเพิ่ม 20 ตัน/วัน โดยถังขยะสีแดงรองรับ 1,000 จุด ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะต่อวัน โดย “ขยะมูลฝอยติดเชื้อ” หรือ ขยะติดเชื้อนั้น หมายถึงขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้น หากมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับขยะนั้นแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคได้ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุดป้องกันตนเอง หรือชุด PPE หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งจะต้องมีวิธีการทิ้งและกำจัดอย่างถูกต้อง
นายนิติพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมอนามัยจัดยังให้ขยะติดเชื้อรวมไปถึงอาหาร น้ำ และภาชนะบรรจุต่างๆ ที่ผู้ป่วยติดเชื้อใช้แล้วทิ้งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด กทม.มีขยะติดเชื้อเพิ่ม 20 ตัน/วัน โดยเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า ในปี 2564 ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. เฉพาะพื้นที่กทม.มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตันต่อวัน แบ่งได้ดังนี้ ประเด็นเเรก ขยะมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปที่เก็บขนและกำจัดจากสถานบริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 8,299 ตัน หรือเฉลี่ย 46 ตัน/วัน ประเด็นที่สอง มูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีนและสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่างๆ เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 3,094 ตัน หรือเฉลี่ย 17 ตัน/วัน ขณะที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาคาดการณ์ว่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ขยะติดเชื้อโควิดจากสถานที่ต่างๆ อาจเพิ่มมากถึง 20 ตัน/วัน
นายนิติพล กล่าวต่อว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าถังขยะสีแดงในกทม. 1,000 จุด จะเพียงพอต่อปริมาณขยะติดเชื้อหรือไม่ โดยปี 2563 กทม. มีจำนวนประชากรในทะเบียนบ้านอยู่ที่ 5.59 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานอีกเกือบราว 1 เท่าตัว แต่การรับมือขยะติดเชื้อในกทม.นั้นมีถังขยะสีแดงซึ่งเป็นถังขยะติดเชื้อโดยเฉพาะบริการประชาชนเพียง 1,000 แห่งเท่านั้น โดยกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่อไปนี้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์บริการสารารณสุข ศูนย์กีฬา กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศูนย์เยาวชน กทม., ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บขยะทั่วประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการขยะติดเชื้อเหล่านี้ด้วย ต้องเพิ่มถังขยะสีแดงให้มากกว่านี้ อย่าให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่จากขยะติดเชื้อ