ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุสามแยกดินแดงระอุแทบจะทุกวัน เพราะมีกลุ่มม็อบหลายกลุ่มที่รวมตัวกันจะเดินขบวนไปที่ ร.1 พัน 1 รอ. ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกมองว่า บริหารจัดการสถานการณ์โควิดผิดพลาด

ทุกครั้งที่ม็อบเดินขบวน ก็จัดตำรวจปราบจลาจลเข้าจัดการ สถานการณ์ก็ยืดเยื้อไปจนถึงหลังเคอร์ฟิว ได้ยินคนแถวแฟลตดินแดงบ่นๆ กันมาว่าอยู่กันแทบไม่ค่อยได้ แต่หลายคนเขาก็เชียร์ม็อบอยู่ ออกมาให้กำลังใจหรือออกมาร่วมเดินขบวนด้วย ตามสิทธิที่เขาจะเคลื่อนไหวได้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจ

รายงานข่าวเกี่ยวกับการ “ก่อความรุนแรง” มีหลายรายงานที่เข้ามา ซึ่งแล้วแต่คนจะเชื่อว่าเป็นกลุ่มไหนที่ “เปิดก่อน” เพราะสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น “ความจริง” ส่วนหนึ่งก็มาจากทัศนคติเดิมของตัวเอง เชียร์รัฐบาลก็คิดอีกแบบ.. แต่การใช้อาวุธด่วนสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้คนค่อนข้างมองว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหละเริ่ม

เอาเป็นว่ามันก็ต้องมีการพิสูจน์ทราบความจริงเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ขณะนี้มีรายงานตำรวจเจ็บ แล้วทั้งนายกฯ ทั้ง ผบ.ตร.ก็ให้ของขวัญ ให้กำลังใจ แต่ฝ่ายประชาชนที่บาดเจ็บกลับไม่ค่อยมีการพูดถึงนัก ว่าจะมีการชดเชยหรือสืบหาความจริงอย่างไร หลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือการสร้างความยุติธรรม

ล่าสุดก็มีผู้บาดเจ็บที่มีรายงานข่าวว่าถึงขั้นตาอาจบอด คือ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ไฮโซที่ประกาศตัวเป็นแกนนำกลุ่ม “สลิ่มกลับใจ” ตรงนี้ภาครัฐได้มี “แอ๊คชั่น” อะไรบ้างหรือยัง โดยเฉพาะการสืบหาว่า มีการสลายการชุมนุมผิดหลักสากลหรือไม่  การยิงอาวุธใส่ผู้ชุมนุมยิงระดับต่ำตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

ก็เลยมีคนตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ม็อบมันเบาบางลง?  ก็ตอบได้แต่เพียงว่า อันดับแรก คือ ต้องเข้าใจว่า ม็อบกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นเยอะ ที่หลายๆ คนก็มาแนวแกนนำควบคุมไม่ค่อยจะอยู่ (แถมแกนนำก็ถูกค้านประกันตัวอยู่ในเรือนจำเสียอีก) การเร่งใช้ความรุนแรงสลายยิ่งเป็นการสุมไฟให้แรงเข้า

ถ้าเขามีเป้าหมายในการเคลื่อนไปหน้าค่ายทหารที่นายกฯ อยู่ ก็ลองปล่อยให้เคลื่อนไปให้ถึง แล้วให้มีการแสดงสัญลักษณ์หรือประกาศเจตนารมณ์ ก็ลองปรับกลยุทธ์ให้เขาไปถึงที่แล้วกระทำการดังกล่าวก่อนเขาจะแยกย้ายดูสักครั้งได้หรือไม่? ดีกว่ามานั่งปราบกันรายวัน วันนี้ม็อบไปไม่สำเร็จวันรุ่งขึ้นนัดใหม่ แล้วความสูญเสียจะมากขึ้นแค่ไหน?  

อันดับต่อมาคือ “อย่าเงียบ” เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด ขณะนี้ดูเหมือนนายกฯ ที่ปกติพูดบ่อย ๆ กลับพูดน้อยลง ปล่อยให้โฆษกออกมาพูดแทนหรือปรามม็อบ สิ่งที่คนอยากรู้คือ “จะบริหารสถานการณ์อย่างไรต่อไป” ที่ทั้งแก้ปัญหาเรื่องวัคซีนขาดและช่วยให้คนกลับมาทำงานได้

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแสดงความเป็นผู้นำในฐานะ ผอ.ศบค.ที่ออกมายืนยันเรื่องจำนวนวัคซีนจะกระจายได้ทั่วถึงเมื่อไร, ไม่มีโกงไฟเซอร์ไปฉีดให้วีไอพี, จะผ่อนปรนมาตรการเรื่องเปิดเมือง เปิดเรียนได้เมื่อไรอย่างไร ยิ่งตัดสินใจช้า คนไม่ได้กลับไปทำงานเขายิ่งเดือดร้อน สุดท้ายเขาก็ออกมาร่วมเดินขบวนกับม็อบ

บางเรื่องอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ควรใช้ถ้าเร่งรัดให้การแก้ปัญหามันเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ปราบม็อบ แล้วกระจายงานไปให้รัฐมนตรีคนอื่นได้บริหารจัดการร่วมด้วยแบบเห็นภาพชัดเจนว่าใครรับผิดชอบ ไม่ใช่มีแต่ภาพรัฐมนตรีทำงานการกุศล ซึ่งประชาชนคาดหวังจะเห็นรัฐมนตรีทำงานเชิงนโยบายเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ชัดเจนจากผู้นำก็สำคัญเสมอในการทุเลาเบาบางสถานการณ์.