รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา รับทราบรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเบื้องต้นรูปแบบการลงทุนในการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ การเดินรถต่อเนื่องเป็นเส้นทางเดียวกันทั้งสายสีม่วงใต้ และสายสีม่วงเหนือ ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยผู้โดยสารจะสามารถนั่งได้ยาวตลอดทั้งเส้นทาง ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีเตาปูน 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า รูปแบบการเดินรถต่อเนื่องดังกล่าว จะมีแนวทางการดำเนินงาน 2 ทางเลือกคือ 1.ให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือรายเดิม เป็นผู้เดินรถต่อเนื่อง และ 2.เปิดประกวดราคา (ประมูล) หาผู้ให้บริการเดินรถรายใหม่ ทั้งนี้ จะเป็นทางเลือกใดนั้น จะมีการพิจารณาในรายละเอียดแต่ละทางเลือกอีกครั้ง ก่อนสรุปเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปว่า ผู้ให้บริการเดินรถจะเป็นรายเดิม หรือรายใหม่ 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับการจัดหา และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า และการบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงฯ วงเงินลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จะเป็นงานคนละส่วนกับงานโยธา เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าฯ ได้ภายในปี 67 ใช้เวลาประมาณ 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ได้ทันตามแผนงานที่กำหนดเปิดให้บริการปลายปี 70 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น ขณะนี้ รฟม. ได้รับพื้นที่สาธารณะ อาทิ พื้นที่ถนน และพื้นที่ทางเท้า จากหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างครบทั้งหมด 100% และส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญาแล้ว ขณะเดียวกันกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้อนุมัติให้ผู้รับจ้างใช้ผิวจราจรในการก่อสร้างได้ชั่วคราวทั้ง 6 สัญญาแล้วเช่นกัน ขณะนี้จึงเริ่มมีการปิดบางช่องจราจรบริเวณการก่อสร้างของสัญญาต่างๆ อาทิ ถนนสามเสน, ถนนพระสุเมรุ, ถนนมหาไชย, ถนนพระปกเกล้า, ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนสุขสวัสดิ์ เป็นต้น 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การปิดช่องจราจรดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และอาจมีเสียงดังรบกวน ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ คืบหน้าแล้วประมาณ 3.8% ส่วนการขอใช้พื้นที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้ รฟม. ใช้พื้นที่ใต้ดินที่ล้ำเข้ามาในเขตที่ดินหอสมุดแห่งชาติในระยะ 10 เมตร เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับภูมิทัศน์ของหอสมุดฯ และต้นไม้ใหญ่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาหารือกับกรมศิลปากร.