สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่า ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ผ่านวารสาร “ไซเอนซ์ ทรานสเลชันนัล เมดิซิน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่า อาหารคีโตเจนิก ที่ให้แก่สัตว์ฟันแทะและมนุษย์ สามารถจัดการกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำอันเกิดจากสารเคมีที่เป็นพิษได้
ทั้งนี้ เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดลักษณะคล้ายแผ่นดิสก์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนจากบาดแผล โดยเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากทำให้การผ่าตัดซับซ้อนและเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือด
สำหรับอาหารคีโตเจนิก ซึ่งเป็นโภชนบำบัดที่ปลอดสารพิษและต้นทุนต่ำ จะช่วยเพิ่มการผลิตคีโตนในตับซึ่งนำไปสู่การเผาผลาญในหลากหลายระดับ โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่า อาหารดังกล่าวยังสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ด้วย
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นสังเกตว่า คีโตนที่ได้รับการกระตุ้นจากอาหารคีโตเจนิกสามารถกระตุ้นยีนที่สร้างเกล็ดเลือดได้ จึงมีการให้อาหารคีโตเจนิกแก่หนูที่เป็นมะเร็งตับอ่อนหรือมะเร็งปอด และพบว่า พวกมันต้านทานต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเกิดจากเคมีบำบัดได้มากขึ้น
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยพบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันในการทดลองนำร่องขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครสุขภาพดี 5 คน และผู้ป่วย 17 คนจาก 28 คน ที่ได้รับอาหารคีโตเจนิกในการศึกษาย้อนหลัง อย่างไรก็ดี ยังคงจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่ในอนาคต เพื่อตรวจสอบศักยภาพในการรักษาต่อไป.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA