เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า กระทิงเพศผู้ อายุประมาณ 16 ปี ตัวขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากกว่า 1,500 กิโลกรัม ตาบอดสนิท ที่เจ้าหน้าที่นำมาดูแลอนุบาล ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. ซึ่งต่อมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ทราบข่าว จึงได้ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่าและจิตอาสา นำเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกันสร้างคอกให้กับกระทิงป่าตาบอด เพศผู้และเพศเมีย ทั้ง 2 ตัว ถือเป็นบ้านหลังใหม่ และศูนย์พักพิงกระทิงชราแห่งแรก เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

บ้านหลังใหม่! สร้างอนุบาล ‘กระทิงตาบอด’ ถือเป็นศูนย์ดูแลสัตว์ป่าบาดเจ็บแห่งแรกเขาใหญ่

ขณะเดียวกัน นายคำมวน ทองแต้ม หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ที่ดูแลกระทิง ได้แจ้งว่า กระทิงเพศผู้มีอาการท้องเสียรุนแรง จึงได้ประสานไปยัง “หมอล็อต” หรือ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นักวิชาการชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภายหลังมีการมอบหมายให้ นายสัตวแพทย์ วัชรินทร์ หินอ่อน โรงพยาบาลสัตว์ปากช่อง ร่วมกับ สัตวแพทย์จากกรมอุทยานฯ เดินทางเข้าไปตรวจสอบ เจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ พร้อมให้น้ำเกลือแล้วตั้งแต่ช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา และเช้าวันนี้ กระทิงเพศผู้ก็ยังมีอาการอ่อนเพลียนอนในคอก และสัตวแพทย์คอดติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

ด้านหมอล็อต กล่าวว่า หลังได้เจาะเลือดมาตรวจ พบว่ามีโรคแซกซ้อนหลายโรค ประกอบกับกระทิงมีอายุมาก และมีโรคติดตัวมาอยู่แล้ว ยังไงทีมสัตวแพทย์ต้องให้การดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะส่วนใหญ่ที่สัตว์ป่าที่ออกมาหากินนอกแนวเขตอุทยานฯ บางตัว ก็ป่วย และตาบอดเดินในป่าชนต้นไม้ ไม่มีแหล่งน้ำกินจึงต้องออกมาหาความช่วยเหลือ โดยขอบคุณ นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ทันต่อเหตุการณ์ได้ร่วมกับ นายอำเภอปากช่อง ปกครอง เจ้าหน้าที่ นำกระทิงตาบอดมาดูแล และได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดี มูลนิธิอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า จิตอาสา และหน่วยงานได้ร่วมกันทำคอก ถือเป็นบ้านหลังใหม่ให้กระทิง ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง โดยจุดนี้ถือเป็นศูนย์พักพิงกระทิงชรา เป็นพื้นที่แหล่งกำเนิดกระทิงเขาใหญ่ที่มากที่สุด

“….ฝากขอความร่วมมือจากประชาชนที่พบเห็นสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กระทิง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ออกมาหากินนอกแนวเขตอุทยานฯ และมีอาการป่วย ขออย่าไปขับไล่เขา เนื่องจากเขาออกมาขอความช่วยเหลือ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้ความช่วยเหลือ…” หมอล็อต กล่าว.