“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกกลับมาเผชิญความท้าทายอีกครั้ง เมื่อหลายประเทศกำลังประสบกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการระบาดระลอกที่ 4 ของโลก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ กระทบความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ มีความท้าทายมากขึ้นจากหลายปัจจัย เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้ทางการไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมการการระบาดในประเทศ ซึ่งไม่เอื้อต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันทางการในหลายประเทศมีการยกระดับคำเตือนสำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่อง และในเดือน ก.ค. 64 การเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทยสูงเกิน 1 หมื่นคน ในรอบ 10 เดือนหลังจากที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังน่ากังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังสูง และยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในระยะเวลาอันใกล้ สร้างความกังวลและมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว เห็นได้จาก เครื่องชี้การท่องเที่ยวอย่างการค้นหาที่พักผ่านเว็บไซต์ต่างๆ อย่างกูเกิล Destination Insight (Travel Insights with Google) พบว่า เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสูงขึ้น ความต้องการค้นหาโรงแรมและที่พักในพื้นที่ภูเก็ตลดลง

ขณะเดียวกัน ทางการในหลายประเทศยกระดับคำเตือนประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (Center for Disease Control and Prevention) จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยในช่วงนี้ โดยนับจากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท STV ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 5,921 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มเติม ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะต่ำกว่าที่เคยคาด ส่งผลให้ทั้งปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีจำนวน 1.5 แสนคน จากกรอบเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-6.5 แสนคน โดยมองว่าหากทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ได้ดีในช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์การท่องเที่ยวน่าจะทยอยกลับมาได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปหลังจากนี้ ปัจจัยสำคัญจะขึ้นอยู่กับการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่เฉพาะเพียงการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ แต่ยังคงต้องการความร่วมมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ลดลงโดยเร็วที่สุด ตลอดจนความพร้อมของมาตรการที่เข้มข้นและรวดเร็วของทุกฝ่ายในการดูแลหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น ขณะที่สภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว และการระบาดของโควิดมีผลต่อพฤติกรรมและความชอบของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

โดยพบว่า นักท่องเที่ยวจะให้น้ำหนักในการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากโควิด และมีมาตรการการควบคุมการระบาดของโรคในท้องที่ต่างๆ การมองหาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวแออัด และปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่มีความพร้อมจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะใช้เวลาในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเมื่อพบจุดหมายปลายทางดังกล่าว ระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางจะสั้นลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือไม่ก็ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 8-10 สัปดาห์ในช่วงก่อนโควิด

ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงสู่ระดับปลอดภัยในระยะต่อไปอาจจะต้องมีความพร้อม ทั้งการประชาสัมพันธ์สื่อสารนักท่องเที่ยว ให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ มาตรการของทางการที่ชัดเจนกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างการระบาดในพื้นที่ พร้อมไปกับการทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวควบคู่กันไป เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย