สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ว่า กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีเผยแพร่เอกสารความยาว 104 หน้า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ “คำแนะนำโดยรวม” ในการขอให้หน่วยงานรัฐยกระดับการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนการใช้งานอุปกรณ์ที่ผลิตและส่งออก “จากรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างเจาะจง” โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรุ่นต่อไป ซึ่งผลิตโดยบริษัท อาทิ “หัวเว่ย” จากจีน
ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานฉบับดังกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลเบอร์ลินไม่มีนโยบายห้ามการนำเข้าและใช้งาน ผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตโดยบริษัทโทรคมนาคม ที่มีฐานการผลิตอยู่ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมนีอาจประกาศให้ อุปกรณ์บางรายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค หรือบริษัทแห่งนั้น “เป็นองค์กรที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ” หรืออาจถึงขั้นขึ้นบัญชีดำ หากตรวจสอบพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสาร และการไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบโดยหน่วยงานรัฐของเยอรมนี
Germany resists US pressure for blanket Huawei ban https://t.co/zgEHAgUvJq
— South China Morning Post (@SCMPNews) December 3, 2022
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเยอรมนีเกิดขึ้น หลังคณะกรรมาธิการการค้ากลางของสหรัฐ ( เอฟทีซี ) ประกาศการบรรลุมติขั้นสุดท้าย ว่าด้วยการห้ามการจัดจำหน่ายและการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารทุกประเภท ที่ผลิตโดยบริษัทของจีน ได้แก่ “หัวเว่ย” “แซดทีอี” “เจ้อเจียง ต้าหัว เทคโนโลยี” “ฮิควิชั่น” และ “ไฮเทรา” โดยจะเป็นการระงับออกใบอนุญาตใหม่ ตามกฎหมายซึ่งสภาคองเกรสบัญญัติ เมื่อเดือนพ.ย. 2564 เพื่อ “การรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์”
ด้านคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า เยอรมนีกำลังทำให้ความมั่นคงภายในของตัวเองตกอยู่ในอันตราย และ “ไม่ศึกษาบทเรียน” ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว จากการพึ่งพิงพลังงานของรัสเซียมากเกินไป.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES