เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยถึงการจัดงานพิธีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ “วันพ่อแห่งชาติ” ซึ่งในทุกจังหวัด ทุกอำเภอได้มีการจัดกิจกรรมนำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธีเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีทั้งการประกอบพิธีทางศาสนา พิธีสวดพระพุทธมนต์ พิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พิธีร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง การบริจาคโลหิต ฯลฯนอกจากนี้ วันที่ 5 ธ.ค. ยังเป็นวันสำคัญของประชาคมโลกอีกด้วย นั่นก็คือ วันดินโลก หรือ World Soil Day โดยในปี 65 มีการรณรงค์ให้คนทั่วทั้งโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของดินภายใต้หัวข้อ Soils, where food begins หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศเจตนารมณ์ ว่าจะร่วมส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้คนในชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของดินและหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรดิน รวมถึงฟื้นฟูดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศที่สมดุล ช่วยกันทำให้ดินแดนมาตุภูมิของพวกเรากลายเป็นผืนแผ่นดินทองดั่งที่โบราณว่าไว้ว่า เราคือ อู่ข้าวอู่น้ำของโลก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปวงพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และจดจารึกไว้ในดวงใจอย่างมิเสื่อมคลายกว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงประชาว่า ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรมทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ สร้างความผาสุกร่มเย็นให้แก่ชาติบ้านเมือง ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่านผ่านการทุ่มเทพระวรกายสร้างสรรค์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5,151 โครงการ พร้อมแนวราชดำรัสอีกมากมาย เพื่อให้คนไทยได้ถอดรหัสนำมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของพี่น้องประชาชนคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด มุ่งสู่การทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งนัยที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy :SEP) คือ ต้องรู้จัก ความพอดี พอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการมีความรู้และคุณธรรม กล่าวโดยสรุปคือเราต้องรู้จักตัวเอง และประมาณตนว่า ตัวเองมีฐานานุรูปอย่างไร มีเงินเดือนเท่าไร มีหน้าตาทางสังคมอย่างไร ก็ต้องใช้ชีวิตให้พอดีแก่ฐานานุรูปแห่งตนซึ่งสามารถก้าวหน้าได้ คือ การเติบโตในทุกด้าน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ส่วนคำว่า มีเหตุมีผล ทุกท่านคงเข้าใจความหมายดีอยู่แล้ว ว่าต้องอยู่ในหลักความพอดี หากมีความจำเป็นต้องซื้อทรัพย์สินก็อย่าให้เดือดร้นจนเกินตัว ต่อมาคือมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องรู้เท่าทันโลกและรู้จักพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เช่นในปัจจุบันกระแสพลวัตก็เปลี่ยนแปลงไปโลกของเราทุกอย่างคือความรวดเร็วเป็นยุคที่เรียกว่า Disruptive การขายสินค้าถ้าเราอยากจะเพิ่มรายได้ก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิตและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า หรือ แพลตฟอร์มที่มีสู่ระบบออนไลน์ หรือตลาด อื่นๆ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าถ้าเราเข้าใจบริบทนี้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไขคือ การมีความรู้ และการมีคุณธรรม อยู่บนพื้นฐานความถูกต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือเบียดเบียนผู้อื่น หากเราปฏิบัติเช่นนี้จนนำมาสู่วิถีชีวิต หรือ Way of life ได้ ก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่เป็นสุข สิ่งแวดล้อมที่ดีชุมชน สังคมประเทศชาติของเราก็จะดีตามมา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เนื่องในโอกาสวันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการฟื้นคืนชีพ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยและชาวโลก ด้วยการพระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ จนเกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาคมโลก จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist)” เป็นพระองค์แรกของโลก องค์การสหประชาชาติ และได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ โดยรับรองให้วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันดินโลก และบรรจุในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประเทศสมาชิกทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ กระทรวงมหาดไทย มีความตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของดินที่ช่วยสร้างแหล่งอาหาร ทำให้พืชผลสามารเจริญงอกงามผลิดอกออกผลทั่วสารทิศ หล่อเลี้ยงทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่งบนผืนแผ่นดิน ทำให้แนวคิดแผ่นดินทองสามารเกิดขึ้นได้จริง โดยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอจึงร่วมกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น พี่น้องประชาชนจิตอาสา และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกัน ประกาศเจตนารมณ์เพื่อสืบสานรักษาความอุดมสมบูรณ์แห่งดิน และต่อยอดขยายผลกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร Change for Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งมีข้อความการประกาศเจตนารมณ์ว่า “ข้าพเจ้า จะสืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาดินอย่างยั่งยืน ข้าพเจ้า จะรักษาความอุดมสมบูรณ์แห่งดิน เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่มีคุณภาพ ข้าพเจ้า จะต่อยอด ขยายผล ขับเคลื่อนเครือข่ายพลังแผ่นดิน สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ วันนี้ยังได้รับรายงานข้อมูลความคืบหน้าแบบรายงาน add event ของอำเภอ/จังหวัด วันที่ 5 ธ.ค. 65 เมื่อประมาณ 13.30 น. จากทีมบริหารข้อมูลและประเมินผลโดยในขณะนี้ มีอำเภอ/จังหวัด ดำเนินการบันทึกข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 891 พื้นที่ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามความพึงพอใจแล้วกว่า 30,000 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่พอใจมากถึงมากที่สุด ในส่วนการรับรู้ และความตระหนักในทรัพยากรดิน อยู่ในระดับมาก ไปจนถึงมากที่สุด ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี กิจกรรมงาน วันดินโลก ปี 2022 ของกระทรวงมหาดไทย ได้มีการกำหนดจัดกิจกรรมตั้งแต่ วันที่ 2 ธ.ค. 65 ไปจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. 65 เรียกว่าเป็นสัปดาห์แห่งการตระหนักรู้ “Awareness week” ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ต่อเนื่องตลอด 7 วัน ภายใต้แนวคิด “Great food from good soil for better life awareness week” หรือ “ดินดี อาหารดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข” ซึ่งจะขับเคลื่อนในพื้นที่ นำร่อง จ.อุบลราชธานี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุก และภาคส่วนรับรู้และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญทรัพยากรดินในการดูแลฟื้นฟูบำรุงดินที่เป็นแหล่งกำเนิดของอาหารและสิ่งมีชีวิตนานับประการ ซึ่งกิจกรรม Highlight ในวันสุดท้าย คือ วันที่ 8 ธ.ค. 65 จะจัดขึ้นที่ ศูนย์พุทธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในรับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลักที่ คือ กรมการปกครอง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับกิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจมากในวันนั้น คือ กิจกรรมที่เป็นความร่วมมือภายใต้ MOU ระหว่าง (กระทรวงมหาดไทย + มหาเถรสมาคม และ สจล.) ที่วัดเกือบทุกวัด ใน จ.อุบลราชธานี และพื้นที่อื่น ๆ ได้ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมในวันดินโลก เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน มีประชาชนเข้าร่วมพื้นที่แต่ละวัดประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้นคาดว่า มีคนเข้าร่วม สร้างการรับรู้กว่า 60,000 คน ผ่านการทำงานสาธารณสงเคราะห์ หรือ หลัก “บวร” พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom จากสถานีแม่ข่ายหลัก ที่วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน ไปยังพื้นที่วัด หรือที่สาธารณะในชุมชนที่ทางอำเภอต่าง ๆ จัดเตรียมไว้ กิจกรรมต่อมามีชื่อว่า “ถนนสายวัฒนธรรม” ทาน ศีล ภาวนา ทำจิตอาสาพัฒนาดิน พัฒนาพื้นที่ มีอาหารผลผลิตที่เกิดจากดิน มาใส่บาตร แบ่งปันกัน มีการทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูบำรุงดิน ห่มดิน ใส่ปุ๋ยจากวัตถุดิบธรรมชาติ ทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมัก และอื่นๆ ที่เป็นการร่วมกันเทิดพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างการตระหนักรู้ ในการดูแลทรัพยากรดิน ภายใต้ Theme หัวข้อประกวดของ FAO องค์การอาหารและเกษตรกรรม แห่งสหประชาชาติ ว่า Soils: where food begins (อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน)